ไทยปลื้ม เคลียร์มาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วย 'การจัดการอาหารแช่เยือกแข็ง' สำเร็จ
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 51
ไทยปลื้ม เคลียร์มาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วย 'การจัดการอาหารแช่เยือกแข็ง' สำเร็จ
ระยะเวลากว่า 8 ปีที่ประเทศสมาชิกโคเด็กซ์ (Codex) 175 ประเทศ และ 1 องค์กรสมาชิก มีข้อโต้แย้งยืดเยื้อเกี่ยวกับการจัดทำ ร่างมาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการผลิต การจัดการดูแลอาหารแช่เยือกแข็ง โดยเฉพาะเรื่องข้อกำหนดคุณภาพการผลิตที่เข้มงวดมากเกินความจำเป็น เช่น ให้ผู้ผลิตต้องวิเคราะห์และกำหนดแผนการควบคุมจุดวิกฤติด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Defect Action Point Analysis หรือ DAP) โดยใช้หลักการเดียวกับการวิเคราะห์และควบคุมจุดวิกฤติด้านความปลอดภัยอาหาร ซึ่งประเทศไทย กลุ่มอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้พยายามคัดค้านข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระและเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกอาหารแช่เยือกแข็ง ที่สำคัญยังถือเป็นการสร้างข้อกีดกันทางการค้าด้วย
เมื่อปี 2549 คณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ ได้มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขมาตรฐานและต้องหาข้อยุติให้ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งเบื้องต้นไทยได้ประสานความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเร่งปรับปรุงแก้ไขร่างมาตรฐานฯที่ยังมีข้อขัดแย้งโดยเฉพาะเรื่อง DAP หลังจากปรับปรุงแก้ไขเอกสารแล้ว ไทยได้ส่งหนังสือเวียนให้สมาชิกโคเด็กซ์รับทราบ และพิจารณาพร้อมขอให้แสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ 2 รอบ ในที่สุดสมาชิกโคเด็กซ์ให้ตัดเรื่อง DAP ออกไป ถือเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นของไทย ที่สามารถผลักดันให้ยกเลิกข้อกำหนด DAP และปรับเปลี่ยนเป็นข้อกำหนดที่ยืดหยุ่นและสามารถปฏิบัติได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศเฉพาะกิจของโคเด็กซ์ เรื่องการผลิตและการจัดการดูแลอาหารแช่เยือกแข็ง (Ad Hoc Codex Intergovernmental Task Force on Processing and Handling of Quick Frozen Foods) ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ซึ่งมีประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าอาหารแช่แข็ง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เข้าร่วมประชุมกว่า 20 ประเทศ ทั้งยังมีผู้แทนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งทำหน้าที่ให้ความเห็นและออกเสียงโหวตแทนสมาชิก จำนวน 27 ประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย
นายสรพล เถระพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ก่อนการประชุมคณะผู้แทนไทยได้หารือนอกรอบหลายครั้งกับผู้แทนแต่ละประเทศที่มีบทบาทสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นข้อขัดแย้งและหาแนวทางที่จะนำไปสู่ข้อตกลงเบื้องต้น ซึ่งผลการประชุมได้ข้อสรุปว่า ต้องปรับปรุงแก้ไขขอบข่ายของมาตรฐานฯ ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยมีเนื้อหาครอบคลุมสินค้าอาหารแช่เยือกแข็งทุกประเภท เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ แต่ไม่รวมน้ำแข็ง ไอศกรีม และนม ขณะเดียวกันยังได้กำหนดให้มีการจัดการดูแลการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุ การขนส่ง ส่งออก นำเข้า และการขายปลีกอาหารแช่เยือกแข็ง
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกแบบห้องเย็น รวมถึงคุณลักษณะและความแม่นยำของเครื่องมือ และวิธีการที่ใช้ในการควบคุม ตรวจสอบเฝ้าระวังอุณหภูมิตลอดกระบวนการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายอาหารแช่เยือกแข็ง ซึ่งเดิมกำหนดไว้เข้มงวดและมีข้อจำกัดมาก ที่ประชุมฯ ได้มีการปรับแก้ไขให้เหมาะสมในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดความเชื่อถือระหว่างประเทศ อยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ปฏิบัติได้
ที่ประชุมฯ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นำร่างมาตรฐานเสนอต่อคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ให้การรับรอง เพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศภายในเดือนกรกฎาคม 2551 นี้ โดยใช้กระบวนการเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนตามปกติ ซึ่งสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 2 ปี
มกอช.เชื่อมั่นว่า มาตรฐานการผลิตและการจัดการดูแลอาหารแช่เยือกแข็งฉบับนี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ และช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารแช่เยือกแข็งมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=55452&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น