เมื่อวันที่ 9 มกราคม 51
ความปลอดภัยของอาหาร ต้องเริ่มตั้งแต่ ต้นน้ำลงมาถึงปลายน้ำคือบนโต๊ะอาหารก่อนตักเข้าปากผู้บริโภค...
...ต้นน้ำในการผลิตนั้นเกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบในแปลงปลูก โดยเฉพาะในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ได้วางมาตรการการผลิตตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP
ต่อมาถึงการเก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อและขนส่ง ซึ่งก็มีมาตรการและมาตรฐานเป็นตัวกำหนดเช่นกัน หากส่งสู่ตลาดต่างประเทศก็จะต้องให้มีการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ของ GMP โดยไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนอื่นๆไปกับอาหาร
มาถึงตลาดภายในบ้านเราเพื่อจำหน่ายให้คนไทยกันเองเปิบ ก็มีนโยบายที่จะให้อยู่ในมาตรฐานเช่นเดียวกับลูกค้าคนต่างชาติ แต่โดยทั่วไปแล้วก็ยังอยู่ในขั้นหมิ่นเหม่ต่อการปนเปื้อนและเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ... ซึ่งในขบวนการตรงนี้ถือว่าสำคัญไม่แพ้การผลิต
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดถึง เรื่องนี้ว่า.... “อาหารปลอดภัย” เป็นนโยบายหลักของกระทรวงฯ ฉะนั้น ตลาดสดจะต้องสร้างปัจจัยไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งจะต้องมีการควบคุม ดูแล และตรวจสอบ รวมไปถึงการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่นใจให้ กับผู้บริโภค
ตลาดไท....เป็นองค์กรหนึ่งที่มีความตระหนัก จึงได้ปรับปรุงเป็น “ตลาดสดโฉมใหม่ อาหารปลอดภัย” ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นต้นแบบในการยกระดับตลาดสดของประเทศไทยให้ทันสมัยได้มาตรฐาน โดยเน้นการใส่ใจต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพื่อให้ตลาดแห่งอื่นๆได้ถือปฏิบัติตาม
นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้เสริมข้อมูลว่า ปทุมธานี เป็นแหล่งผลิตข้าว พืชผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตร ที่มีศักยภาพมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายผลผลิตการเกษตร และอาหาร
และ...เป็นที่ตั้งของตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาด ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะตลาดไทซึ่งมีการปรับระบบความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดความสะอาดได้มาตรฐานสุขอนามัย
“รวมถึงการให้ ความใส่ใจตรวจสอบควบคุมดูแลสินค้าและผู้ค้าให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ของทางราชการ ตลาดไทได้ดำเนินการเป็นการนำร่อง ถือว่าเป็นตัวแทนของจังหวัดปทุมธานีได้อย่างดีเยี่ยม”
นายพิชิต นิ่มสกุล กรรมการผู้จัดการตลาดไท กล่าวว่า...แม้เราจะเป็นกลุ่มธุรกิจแต่ ก็มีความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมต่อผู้บริโภค จึงเน้นในความปลอดภัยต่อสารปนเปื้อนที่อาจติดมากับสินค้า ตลอดจนความสะอาดทางกายภาพของตลาดมิให้มีกลิ่น แมลงวัน หรือสัตว์พาหะโรคทั้งหลายมารบกวน
และจัดให้มี ห้องปฏิบัติการตรวจสารปนเปื้อน เพื่อสุ่มตรวจผลผลิตทางการเกษตรและอาหารต่างๆ หากตรวจพบเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อน ก็มี บทลงโทษอย่างจริงจังกับผู้ค้าที่ฝ่าฝืน...
ทั้งนี้...เพื่อสนองนโยบาย อาหารปลอดภัย...อย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=74495