เมื่อวันที่ 17 เมษายน 51
นายสมปอง อินทร์ชัย อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40/1 หมู่ 9 บ้านหินขาว ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2537 พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดโครงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่อำเภอปากพนังอย่างคึกคัก นายสมปองจึงได้เปลี่ยนที่นาของตนเองให้เป็นนากุ้ง แต่ก็ต้องประสบภาวะขาดทุนสิ้นเนื้อประดาตัว มีหนี้สินเพิ่มขึ้น จึงหยุดการทำนากุ้ง แล้วหันมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว ในที่สุดปี พ.ศ. 2540 ตัดสินใจอพยพครอบครัวจากฝั่งทะเลอ่าวไทยดินแดนรับพระอาทิตย์ยามเช้าไปอยู่จังหวัดระนองท้องที่ทะเลอันดามันแดนดินทะเลตกในยามเย็น รวบรวมเงินทุนก้อนสุดท้ายเท่าที่มีซื้อที่ดินจำนวน 8 ไร่ เพื่อทำการเกษตรโดยปลูกพืชหมุนเวียน
จากนั้นจึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ยึดหลัก กินทุกอย่างที่ปลูก และปลูกทุกอย่างที่กิน ปลูกข้าวไว้กิน พืชผักสวนครัวเป็นกับข้าว ทำให้สามารถลดรายจ่ายในครอบครัวได้ และนำผลผลิตที่เหลือไปขายในชุมชน อยากจะเลี้ยงปลาแต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ลาดไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลา แต่ด้วยความมานะไม่ลดละความพยายามจึงนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ในการทำบ่อเลี้ยงกุ้งมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่ จนกระทั่งมีแนวคิดในการขุดบ่อเลี้ยงปลาแบบขั้นบันได เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศที่มีอยู่ซึ่งเป็นที่ลาดเอียง โดยใช้แรงงานตนเอง ในการดำเนินงานทั้งหมด ปัจจุบันมีบ่อแบบขั้นบันไดสำหรับเลี้ยงปลาและเก็บน้ำเพื่อปลูกพืชผักในพื้นที่ถึง 10 บ่อ นับเป็นการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินชีวิต จนทำให้มีน้ำ พืชผัก ข้าวและปลา ซึ่งเมื่อเหลือกินแล้วได้นำมาแปรรูปเป็นปลาดุกร้า จำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ทำให้พื้นที่มีผลผลิตครบถ้วนเพียงพอเลี้ยงครอบครัวและจำหน่ายเป็นรายได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อันเป็นการลดต้นทุนและลดการใช้พลังงานอีกด้วย
ความที่เป็นคนช่างคิดและใฝ่หาความรู้จึงเข้าอบรมและเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อหาวิธีการปลูก วิธีการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ วิธีการขยายและวิธีการจัดการกับสินค้าที่มีอยู่ ทั้งศึกษาเองและสอบถาม จากผู้รู้ทั้งหลาย นำความรู้มาประยุกต์ใช้และถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนอยู่เสมอ ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติ การอบรม การดูงานได้นำมาถ่ายทอดให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มและนำโครงการป่ารักษ์น้ำเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ จนเป็นผลให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นเอื้อประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืชสวน จากผลการดำเนินงานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ส่งผลให้นายสมปอง อินทร์ชัย สามารถปลดหนี้ที่เกิดจากนากุ้งล่มจำนวน 500,000 บาท ได้ภายใน 4 ปี
จากกรณีดังกล่าวจึงน่าที่จะเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนประกายส่องทางให้ผู้ที่เคยหลงเดินตามกระแสทุนนิยมสามารถยืนขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันครอบครัวคุณสมปองมีรายได้ถึง 220,800 บาทต่อปี สามารถพึ่งตนเองได้และมีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ความสำเร็จของผลงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านประชาชนทั่วไป ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ “80 พรรษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์” เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมานั้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rdpb.go.th/) ไร่นาสวนผสมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนายสมปองก็กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องตลอดมาจวบจนทุกวันนี้
และ ณ วันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติของประชาชนโดยทั่วไป ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นแม่แบบในการศึกษาเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรให้กับเกษตรกร ประชาชนที่สนใจในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้เข้ามาเรียนรู้และนำแนวทางไปปฏิบัติตามความเหมาะสมของตนเองต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=160946&NewsType=1&Template=1