เมื่อวันที่ 17 เมษายน 51
นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ชาวสวนลำไยทั่วประเทศต้องประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างซ้ำซาก ถึงขนาดต้องรวมตัวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยประกันราคาครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากเกษตรกรประสบการขาดทุนอย่างย่อยยับ โดยมีมูลเหตุแห่งเหตุ 2 ประการด้วยกัน
ประการหนึ่งเกิดจากผลผลิตกระจุกตัวในห้วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ร้อยละ 87 ผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดพร้อมๆ กันในช่วงฤดูการผลิตในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี อย่างในปีที่แล้ว (ปี 2550) เฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดของภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง และตาก มีผลผลิตถึง 373,963 ตัน หรือร้อย 93 ของผผลผลิตลำไยทั่วประเทศ
อีกประการหนึ่งเกิดมาจากผลผลิตลำไยนับวันมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปริมาณการขยายพื้นที่ปลูกลำไยของเกษตรกรมากขึ้นทุกปีนั่นเอง ทำให้สิ่งที่ตามมาคือลำไยให้เพิ่มผลิตมากขึ้น อย่างล่าสุดมีการสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรชาวสวนลำไยถึง 238,921 ครัวเรือน มีพื้นที่การปลูกลำไยทั้งหมดถึง 1,009,029 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตทั้งประเทศ 930,029 ไร่ และมีผลผลิตทั้งหมด 495,457 ตัน ขณะที่การขยายตัวด้านตลาดเพื่อระบายผลผลิตดังกล่าวยังอยู่ในกลุ่มเดิม
ด้วยเหตุนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพในปี 2551 เนื่องจากเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะให้เกษตรกรได้จำหน่ายผลผลิตลำไยที่ได้ราคากว่า และอีกหนทางหนึ่งเพื่อเป็นการแก้ปัญหาผลผลิตลำไยที่ออกกระจุกพร้อมกันในฤดูการผลิตของทุกปี เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดงาน "วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ" ขึ้น ที่บ้านสันเหมือง ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน
นายทรงศักดิ์ วงษ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การเร่งผลักดันและสนับสนุนให้ชาวสวนลำไยหันมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มมากขึ้นนั้น เพื่อเป็นการกระจายผลผลิตไม่ให้ออกสู่ตลาดแบบกระจุกตัว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ทางกรมส่งเสริมฯ จึงมีแผนเร่งรณรงค์การผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพปี 2551 ขึ้น โดยมีพื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 8 หมื่นไร่ หรือร้อยละ 9 ของพื้นที่ให้ผลทั้งประเทศ 930,029 ไร่ ส่วนใหญ่กระจายอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน รวมกว่า 4.5 หมื่นไร่ นอกจากนี้ ที่จันทบุรี 2.5 หมื่นไร่ และกำแพงเพชร สุพรรณบุรี สระแก้ว อีก 1 หมื่น ไร่
คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยนอกฤดูทยอยออกสู่ตลาดประมาณ 8 หมื่นตัน โดยจะเน้นให้ออกผลผลิตตรงกับช่วงความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ ซึ่งมี 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และสารทจีน ประมาณปลายเดือนสิงหาคม ช่วงเทศกาลวันชาติวันที่ 1-10 ตุลาคมของทุกปี และช่วงเทศกาลตรุษจีน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น
เบื้องต้นกรมส่งเสริมฯ เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว นำร่องในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ โดยจะให้องค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมต้นและเทคนิคการตัดแต่งกิ่ง การใช้สารโปแทสเซียมคลอเรตในการชักนำการออกดอกลำไย การดูแลรักษาและจัดการแปลง เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ตลอดจนการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรนำไปใช้ผลิตลำไยนอกฤดูที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยจากสารเคมี และลดต้นทุนการผลิต
ด้านนายตั๋ม แสมธรรมจักร เกษตรกรบ้านสันเหมือง กล่าวว่า มีพื้นที่ปลูกลำไย 4 ไร่ เน้นบังคับให้ออกนอกฤดูกาลมา 10 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าราคาดีกว่า อย่างปีที่แล้วผลผลิตลำไยในฤดูกาลขายกันกิโลกรัมละ 12-14 บาท แต่ลำไยนอกฤดูกาลกิโลกรัมละ 20-21 บาท และปีนี้ทราบว่าลำไยราคาดีมีพ่อค้ามาติดต่อแล้วกิโลกรัมละ 25 บาท ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพียงซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตกิโลกรัมละ 60 บาท ต้นลำไย 1 ต้นใช้สารโพแทสฯ ในบริเวณรัศมีรอบทรงพุ่มของต้นลำไย 2.5 กิโลกรัมเท่านั้น
ส่วน นายเฉลิม สุวรรณล้า ชาวสวนลำไยที่บ้านสันเหมืองเช่นกัน กล่าวว่า ทำสวนลำไยบังคับออกนอกฤดู 8 ไร่ ปีที่แล้วลำไยราคากิโลกรัมละ 21 บาท มีพ่อค้ารับซื้อเหมาในราคา 3.5 แสนบาท แต่ปีนี้ผลผลิตลำไยนอกฤดูกาลมีผลผลิตดี และมีราคาดีด้วย คาดว่าจะได้ถึง 5-7 แสนบาท หากเทียบกับลำไยในฤดูกาลแล้วดีกว่าเท่าตัว เนื่องบางปีลำไยในฤดูกาลประสบกับการขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีจากเดิมกระสอบ 600 บาท ขึ้นมากว่า 1,000 บาทแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้หันมาใช้ปุ๋ยหมักทำเองมาบ้างแล้ว ปรากฏว่าได้ผลดีกว่า ทั้งในแง่ของต้นทุน สภาพดินด้วย
ขณะที่ นายวิวัฒน์ ปัญโญยอด เจ้าของสวนที่ใช้เป็นสถานที่จัดงาน "วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ" เมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา กล่าวว่า ปลูกลำไยมา 11 ปีแล้ว ในพื้นที่ 4 ไร่ ภายในสวนมีการแซมมะม่วงเขียวมรกตด้วย
"ผมมาคำนวณแล้ว พบว่าการทำลำไยนอกฤดูมีรายได้มากกว่าปกติเกินครึ่ง เพราะราคาสูงกว่า 1 เท่าตัว แต่เพิ่มต้นทุนไม่มากนัก อย่างของผมใช้ต้นทุนปีละ 3.5 หมื่นบาท แต่มีรายได้เป็นหลักแสนบาท ตรงนี้ถือว่าคุ้มกว่า และตลาดก็ไม่มีปัญหาด้วย พอลำไยออกผลผลิตจะมีพ่อค้าตีราคาเหมาทั้งสวนไปเลย" วิวัฒน์กล่าว
นับเป็นหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรชาวสวนลำไย ที่แก้ปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ระดับหนึ่ง แต่กระนั้นต้องศึกษาและมีกรรมวิธีที่ถูกต้องด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 17 เมษายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/04/17/x_agi_b001_198457.php?news_id=198457