เทคนิคเตรียมดินสมัยใหม่ ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตต่อไร่
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 51
เทคนิคเตรียมดินสมัยใหม่ ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตต่อไร่
ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกร นอกจากจะอาศัยเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพในการเพาะปลูกแล้ว การเตรียมดินที่ดี ก่อนการเพาะปลูกเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ที่เกษตรกรไม่ควรละเลย เพราะดินเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง ความสำคัญของการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกว่า ดินถือเป็นหัวใจสำคัญของการก่อเกิดพืชพันธุ์ต่างๆ ดินเป็นแหล่งที่ให้อากาศ สำหรับการหายใจทำให้เกิดพลังงานเพื่อการดึงดูดน้ำ และธาตุอาหารที่เหมาะแก่การเจริญเติบโต ทำให้ได้ต้นพืชที่ดีมีผลผลิตสูง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและลดต้นทุนค่าด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย ซึ่งขณะนี้ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันโลก
ดังนั้น เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก โดยเฉพาะการปลูกพืชไร่สมัยใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ให้เกษตรกรทั่วประเทศให้ความสำคัญในการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก โดยเริ่มจาก 4 จังหวัดนำร่องคือกำแพงเพชร สระแก้ว นครราชสีมา และสระบุรี พื้นที่ 5,000 ไร่ ซึ่งพบว่าหลังจากเกษตรกรหันมาเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกตามวิธีการที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 ตันต่อไร่ จากเดิมที่มีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 3.5 ตันต่อไร่ เท่านั้น
การเตรียมดินที่ดี เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจชนิดต่างๆของดินเพื่อจะได้ปรับและแก้ไขปัญหาการใช้ดินให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด โดยดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินมากสุดคือกลุ่มดินเหนียวและค่อนข้างเหนียว อย่างไรก็ตามประเทศไทย มีพื้นที่การเกษตรกว่า 131 ล้านไร่
ดังนั้นในแต่ละพื้นที่ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาดินดาน ดินเปรี้ยวและดินเค็ม ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ดินที่มีปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องใช้วิธีการสมัยใหม่ อาทิ การนำเครื่องจักรด้านการเกษตรต่างๆ เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ในการเตรียมดิน โดยการแก้ปัญหาดินดานนั้น อาจต้องใช้เครื่องจักรไถระเบิดดินดานเพื่อทำลายชั้นดินดาน เพื่อปรับโครงสร้างดินทำให้ดินโปร่ง รากหยั่งได้ การไถหัวหมู เป็นเครื่องมือไถกลบพืชบำรุงดิน และการใช้เครื่องพรวนย่อยให้ละเอียดเพื่อห่อหุ้มเมล็ดและท่อนพันธุ์ ป้องกันการระเหยของน้ำใต้ดิน ส่วนในพื้นที่นา สามารถใช้ไถหัวหมู เพื่อไถกลบตอซังฟางข้าวได้ผลดี โดยไม่ต้องทำการเผาตอซังซึ่งเป็นการทำลายชั้นดินและเกิดปัญหามละพิษ
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเพื่อย่อยหน้าดินหลังการไถกลบตอซังฟางข้าว เพื่อให้ก้อนดินมีขนาดเล็กและเรียบพร้อมสำหรับการหว่านและดำ ใช้ในกรณีได้รับการจัดสรรน้ำชลประทานมากเพียงพอในการเตรียมดิน และเครื่องมือพรวน 2 แถว เป็นเครื่องมือไถพรวนย่อยก้อนดินหลังการไถกลบตอซังฟางข้าว เพื่อเป็นการเก็บรักษาความชิ้นในดินไว้ตลอดฤดูเพาะปลูก ใช้ในกรณีได้รับการจัดสรรน้ำชลประทานไม่เพียงพอในช่วงการเตรียมดิน
สำหรับข้อมูลเปรียบเทียบผลผลิตพืชในแปลงเตรียมดินวิธีการที่ดีและวิธีการทั่วไป พบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดจากเดิม เฉลี่ย 600 กก./ไร่เพิ่มเป็น 1,000 กก./ไร่ ส่วนผลผลิตอ้อยพบว่าเดิมมีผลผลิตเฉลี่ย 5,700กก./ไรเพิ่มเป็น 4,080กก./ไร่ และผลผลิตข้าวพบว่าผลผลิตเดิม 490 กก./ไร่เพิ่มเป็น 390กก./ไร่
อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมดินนั้นเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินการส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีวิสาหกิจ บริการเครื่องกลทางการเกษตร โดยให้กลุ่มสมาชิกในวิสาหกิจนั้นๆบริหารจัดการเครื่องจักรกลเอง สำหรับเกษตรกรที่สนใจวิธีการเตรียมดินที่ดี ติดต่อได้ที่ กองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร 02-940-6175
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 เมษายน 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=104963
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น