เมื่อวันที่ 21 เมษายน 51
แต่ปรากฏการณ์นี้ จะเป็นอยู่อีกนานหรือว่าเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ
นักวิเคราะห์ท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์อยู่กับเรื่อง "ข้าว" มาช้านานและเป็นนักเศรษฐศาสตร์ คือ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งให้ความเห็นโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน รวมทั้ง "ฟันธง" ลงไปว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ระยะสั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงระยะเริ่มต้น และจะส่งผลสืบเนื่องไปในระยะยาวอย่างแน่นอน
ทำไมจึงมีแนวคิดเช่นนี้ ลองดูข้อมูลต่างๆ ประกอบบ้างว่า มีอะไรเป็นสาเหตุ
เรื่องแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทั้งสองประเทศนี้มีประชากรรวมกันเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผลคือราคาของน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายเท่าตัว ซึ่งเป็นเหตุให้มีการนำ "พืชอาหาร" มาปรับเปลี่ยนไปใช้เป็น "พืชพลังงานทดแทน" อย่างรวดเร็ว หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา กลุ่มประชาคมยุโรป จีนและอินเดีย ต่างก็หันไปให้ความสำคัญกับพลังงานชีวภาพจากผลิตผลการเกษตรที่ถือว่าเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่สามารถนำมาทดแทนและสร้างขึ้นใหม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากพลังงานจำพวกปิโตรเลียมซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป
ผลกระทบที่ตามมา คือ "วัตถุดิบ" ที่ใช้ในการผลิตอย่างเช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง เกิดการขาดแคลนอย่างหนัก เพราะว่าถูกนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงแทนที่จะนำมาทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จึงมีสินค้าเหลือส่งออกน้อยลง ราคาในตลาดโลกก็เลยสูงขึ้น
ความจริงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบข้อนี้ด้วย คือราคาข้าวโพดในประเทศก็สูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ คือคนหันมาปลูกข้าวโพดมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ในหลายประเทศก็ทำกันอย่างนี้ โดยมีการลดพื้นที่นาข้าวหันมาปลูกข้าวโพดแทน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนข้าวในหลายประเทศ รวมทั้งเรื่องสต็อกข้าวในประเทศต่างๆ ลดลงจนน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งลดลงเกือบ 2 ใน 3 ของที่เคยมี
ดังนั้น มาตรการที่ประเทศเหล่านี้นำมาใช้คือ ต่างก็หยุดการส่งออกข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยที่มาตรการนี้น่าจะยาวพอควร เพราะว่ามีการคาดการณ์ว่า สต็อกข้าวยังคงจะลดลงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยก็ปีหน้า หมายความว่า ความต้องการข้าวก็ยังมีมากอยู่อย่างเดิมในขณะที่ผลผลิตไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นราคาก็น่าจะยังคงสูงต่อเนื่องไปอีก
ประเทศไทยและเวียดนาม เป็นแหล่งผลิตข้าวสำคัญโดยที่ไทยมีข้าวสารเหลือส่งออกปีละประมาณ 9 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเหลือ 4 ล้านตัน ซึ่งปริมาณการส่งออกนี้น่าจะเป็นโอกาสทองของชาวนาไทย อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวนับวันจะผันผวนมากขึ้น ต้องระวังไว้เหมือนกัน แต่เป็นที่แน่นอนว่าราคาข้าวในปีหน้าจะยิ่งปรับสูงไปกว่านี้อีก และจะทำให้เกิดวิกฤติการณ์อาหารของโลกตามมา
ข้อที่ต้องคำนึงคือทั้งไทยและเวียดนาม หากจะเพิ่มการผลิตให้มากไปกว่านี้อีกคงจะทำได้ยาก เพราะที่ผ่านมามีการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวจนเต็มศักยภาพแล้ว และถ้าเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นมา สิ่งที่เรา "ฝันไว้" อาจกลายเป็น "ฝันร้าย" ก็ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 21 เมษายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/04/21/x_agi_b001_198988.php?news_id=198988