เมื่อวันที่ 21 เมษายน 51
ปรากฏการณ์ "ข้าวแพง" จากเดิมข้าวเปลือกตันละ 6,000-7,000 บาท ไต่เพดานราคาสูงต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 12,900-14,000 บาท
ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 18,500-19,600 บาท ส่วนราคาข้าวสารตลาดกรุงเทพมหานคร ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2 ตันละ 33,300-33,400 บาท ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ตันละ 25,000-25,050 บาท ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์ ตันละ 26,000-26,050 บาท ขณะที่ข้าวสารบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ถุงละ 134-179 บาท ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ถุงละ 80-90 บาท
กอปรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ ) และธนาคารโลก ระบุตรงกันว่า ขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาอาหารแพงขึ้น และเริ่มขาดแคลน นั่นหมายความว่า ถนนทุกสายย่อมมุ่งสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะ "ข้าว" ซึ่งไทยเป็นเบอร์หนึ่งตลาดส่งออกมายาวนาน สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้แกน "อำนาจ" ทางการค้าเริ่มเปลี่ยนมือจากเดิมที่ "ตลาด" คือ ผู้กำหนดราคา แต่วันนี้ "คนขาย" มีอำนาจต่อรองสูงกว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เตรียมเปิดเจรจากับรัฐบาลอินเดีย เพื่อกำหนดทิศทางการค้าข้าวร่วมกันวันที่ 27 เมษายนนี้
แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นความพยายามตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวเมื่ออินเดียไม่เล่นด้วย ทว่าสถานการณ์วันนี้ไม่เหมือนก่อน วันนี้อินเดียหลังชนฝา ถึงอย่างไรก็ต้องย่อมตั้งโต๊ะเจรจากับไทยแน่ ทว่าเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันจะนำไปสู่ทิศทางใด ใครจะได้ประโยชน์สูงสุด "ชาวนา" หรือ "พ่อค้า" ปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย มีข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่ง ฝากให้ท่านรัฐมนตรีมิ่งขวัญพิจารณาเป็นการบ้านก่อนถึงวันเจรจา
ปราโมทย์กล่าวว่า แนวคิดที่ว่านี้ อดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามจะทำ "โอแรก" หรือ "ออแกไนเซชั่น ออฟ ไรซ์ เอ็กซ์พอร์ติ้ง ฮังกี้" คล้ายกับการรวมตัวของกลุ่มประเทศ "โอเปก" จึงเชิญรัฐมนตรีเวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย มาหารือกันที่ประเทศไทย เพื่อกำหนดราคาส่งออกข้าว และตอนเย็นพาไปกินเลี้ยงที่บ้านจันทร์ส่องหล้า พอวันรุ่งขึ้นรัฐมนตรีอินเดียให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ไม่เห็นด้วย 2 ประเด็น คือ 1.ประเทศผู้ผลิตข้าวจะรวมหัวกันกำหนดราคา เพราะมองว่าถ้าทำจริง สังคมโลกจะไม่ยอมรับ และ 2.อินเดียจะรักษาผลประโยชน์ตลาดข้าวของตน
สรุปคือ เมื่อ 6 ปีก่อนอินเดียปฏิเสธความร่วมมือ เนื่องจากยังไม่ประสบวิกฤติข้าวเหมือนปัจจุบัน แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน คาดว่าจะส่งผลให้การเจรจาในวันที่ 27 เมษายนนี้ ประสบความสำเร็จแน่ นั่นหมายความว่า ผลประโยชน์ต้องขึ้นอยู่กับหัวข้อในการเจรจา หากรัฐบาลตั้งกรอบการเจรจาโดยมุ่งที่ราคาขายเป็นหลัก หรือฮั้วกันขึ้นราคาแบบนี้จบเลย
"วันนี้คุณเชิญรัฐมนตรีอินเดียมาเจรจาง่ายกว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากการต่อต้านมาเป็นการเริ่มต้นของอินเดียด้วย ถามว่าหัวข้อที่ทั้งสามประเทศ ซึ่งส่วนแบ่งการส่งออกข้าวในตลาดโลกรวมกัน 63 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2549/2550 คือ ไทย 9.5 ล้านตัน เวียดนาม 4.7 ล้านตัน และอินเดีย 3.8 ล้านตัน ถ้าเราตกลงเรื่องราคาส่งออกจะถูกทั่วโลกมองว่า นี่เป็นการรวมหัวกันฮั้วราคาทันที สังคมโลกจะต่อต้านทันที" ปราโมทย์กล่าว
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทยเสนอ 2 หัวข้อหลักในการเจรจา โดยยืนยันว่าถ้ารัฐบาลทำได้ประสบความสำเร็จแน่ ประการแรก ทั้งสามประเทศต้องกำหนดราคาต้นทุนการผลิตมาตรฐานของชาวนา เนื่องจากปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมี ใกล้เคียงกันเพราะอิงราคาตลาดโลก ฉะนั้นฐานต้นทุนชาวนาทั้งสามชาติ จึงไม่แตกต่างกันมาก ประการที่สอง ทั้งสามประเทศต้องกำหนดกำไรมาตรฐานของชาวนา เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ฐานะยากจน รัฐบาลต้องดูแล เป้าหมายเพื่อให้ชาวนาอยู่รอด และช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของโลก
ส่วนต้นทุนของชาวนาตัวเลขควรอยู่ที่ตันละ 7,000 บาท ส่วนกำไรไม่ควรต่ำกว่าตันละ 3,000 บาท สรุปแล้วชาวนาขายข้าว 1 ตัน ต้องได้เงินอย่างน้อย 1 หมื่นบาท และถ้าชาวนาประหยัดลดต้นทุนเหลือแค่ 6,000 บาท เท่ากับว่าชาวนาได้กำไรเพิ่มอีก 1,000 บาท ก็จะเกิดการแข่งกันลดต้นทุนการผลิต ใครลดได้ถือเป็นโบนัส เมื่อข้าวถูกสีแปรสภาพเป็นข้าวสารโรงสี พ่อค้า ผู้ส่งออก จะเอากำไรเท่าไรก็บวกเข้าไป ตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ว่าใครกินส่วนต่างมากเกินไป หรือค้ากำไรเกินควร ขณะที่ราคาส่งออกของแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเท่ากัน
"เมื่อเราสรุปต้นทุนและกำไรมาตรฐานของชาวนา จากนั้นประกาศเป็นต้นทุนการผลิตข้าวของโลกเลย ผู้บริโภคทั่วโลกจะได้รู้ความจริง ว่าข้าวที่คุณกินมีต้นทุนเท่าไร ถึงแพงก็ทำใจได้ ไม่ต้องกลัวว่ากำไรจะตกไม่ถึงมือชาวนา เพราะถ้าชาวนาอยู่ไม่ได้ หันไปปลูกพืชพลังงานซึ่งรายได้ดีกว่า เจ๊งเลย เราต้องรักษาฐานตรงนี้ โดยการประกาศให้โลกรู้ว่าชาวนาเขามีต้นทุนนะ กำไรพื้นฐานเท่าไร หากไม่ได้แล้วใครจะทำนาปลูกข้าวให้คุณกิน ในเมื่อเขาทำนาแล้วไม่พอกิน เขาก็มีสิทธิหันไปทำอย่างอื่น หลักคิดนี้เราต้องบอกความจริงให้ชาวโลกรู้" ปราโมทย์อธิบาย
ปราโมทย์กล่าวอีกว่า ในอดีตรัฐบาลมองจากยอดพีระมิด คือให้ความสำคัญพ่อค้าและตลาดส่งออก จนละเลยฐานล่างที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด และเป็นรากฐานความมั่นคง แต่ข้อเสนอของเขาต้องให้ความสำคัญแบบพีระมิดหัวกลับ คือสร้างความมั่นคงให้ชาวนาก่อนเรื่องอื่นว่ากันทีหลัง
"ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ข้าวเปลือกตันละ 4,000-5,000 บาท ชาวนาก็เดินขบวน รัฐก็ใช้เงินเข้าแทรกแซง ปีหนึ่งๆ ไทยสูญเงินไปปีละ 1 หมื่นล้านบาท วันนี้ยังเป็นหนี้อยู่ รัฐต้องตั้งงบประมาณใช้หนี้ ธ.ก.ส. เพราะให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน ขณะนี้คืนไปเพียง 2.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น คิดดูเงิน 6 หมื่นล้านไม่ได้พัฒนาชาวนาเลย" ปราโมทย์ให้เหตุผลในตอนท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 21 เมษายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/04/21/x_agi_b001_198986.php?news_id=198986