เมื่อวันที่ 22 เมษายน 51
นายทรงศักดิ์ วงษ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ลำไยนอกฤดูเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งของไทยที่มีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกลำไยนอกฤดูสูงถึง 85,070.46 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,431.25 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกลำไยสดทั้งหมด 2,430.76 ล้านบาท ขณะที่ปี 2551 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ผลักดันส่งออกไปแล้วประมาณ 38,218 ตัน มูลค่ากว่า 555.53 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปลำไยสดช่อซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ
ภายหลังประเทศไทยได้จัดทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (FTA) กับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอไทย-จีน เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ ลำไยได้กลายเป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มสดใส ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลักดันส่งออกได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งการเปิดตลาดใหม่ที่น่าสนใจซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป และอินเดีย
นายทรงศักดิ์กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพดี เพื่อลดปริมาณการกระจุกตัวของลำไยสดช่อที่จะออกสู่ตลาดในฤดูช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำและส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สินค้าลำไยนอกฤดูกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดส่งออก แต่เกษตรกรยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาลำไยนอกฤดูขยับตัวสูงขึ้น ขณะนี้จึงมีเกษตรกรบางส่วนได้หันมาผลิตลำไยนอกฤดู เพื่อป้อนตลาดที่มีกำลังความต้องการสูง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=161432&NewsType=1&Template=1