อัพเกรด 'มาตรฐานสินค้าเกษตร' รองรับประชาคมโลก
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 51
อัพเกรด 'มาตรฐานสินค้าเกษตร' รองรับประชาคมโลก
ปัจจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกโดยเฉพาะเรื่อง คุณภาพและความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) ส่งผลให้ไทยสามารถผลักดันส่งออกได้ปีละกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ใช้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ “Q” กำกับดูแลความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต สามารถการันตีคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์และประมง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าโดยได้เร่งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้า Q ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
นอกจากนี้ มกอช.ยังประสบความสำเร็จในการผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยสู่ตลาดโลกด้วย โดยเฉพาะการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานอาหารฮาลาล แห่งชาติ เพื่อสร้างการ ยอมรับระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาล ไทยในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถเจรจาเปิดตลาดส่งออกผลไม้สดไทย 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ และสับปะรด ไปยังสหรัฐอเมริกา โดยวิธีการฉายรังสีเป็นผลสำเร็จด้วย ขณะเดียวกันยังได้สร้างเครือข่ายอาเซียนด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมจัดทำการประเมินความเท่าเทียมกันของหน่วยรับรองระบบงานด้าน GMP/ HACCP กับองค์กร Joint Accreditation Sys tem of Australia and New Zealand (JAS-ANZ) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นหน่วยรับรองระบบงานซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ มกอช. ว่า กระทรวงเกษตรฯ วางแนวทางสำหรับการเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน 3 แนวทาง คือ เกษตรเพื่อเกษตร โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มราคาผลผลิต และส่งเสริมเพื่อให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถทางการเกษตร แนวทางที่ 2 เกษตรเพื่อประชาชน คือประชาชนต้องมีอาหารบริโภคพอเพียงและปลอดภัยจากสารพิษ สารปนเปื้อน สารตกค้าง บนพื้นฐานของราคาที่เป็นธรรม ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค และแนวทางที่ 3 คือ เกษตรเพื่อเศรษฐกิจ โดยปรับโครงสร้างการผลิต และผลักดันสินค้าเกษตรออกสู่ตลาด ซึ่ง มกอช.เป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญหน่วยงานหนึ่งที่จะสนับสนุนให้แนวทางที่กำหนดไว้นี้ประสบความสำเร็จได้
แม้ว่า มกอช. จะไม่ใช่หน่วยผลิต แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศให้มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เพื่อใช้เป็นเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติในกระบวนการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค โดยมีมาตรการควบคุม ดูแล ตรวจสอบรับรองความปลอดภัยในทุกขั้นตอน และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่สินค้ามีปัญหา นอกจากนั้น มกอช. ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหารในเวทีการค้าโลก สามารถนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากด้วย
สรพล เถระพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช. ได้เตรียมการปรับบทบาท และโครงสร้างของหน่วยงานให้สอดคล้องกับภารกิจ ที่ปรับเปลี่ยนไปตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และการทำงานของ มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางที่กำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ระบบความปลอดภัย ส่งเสริมสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรและอาหารในเวทีการค้าโลก ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของหน่วยงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ทันก่อนที่ พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้สามารถบรรลุผลตามพันธกิจที่ตั้งไว้ นั่นคือ การพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=161436&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น