เมื่อวันที่ 23 เมษายน 51
ลำไย...ผลไม้ไทยอันมีพื้นที่หลักๆ ในการผลิตอยู่ที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ และ ตาก ผลิตลำไยออกมามากถึง 87% ของประเทศ
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา การผลิตลำไยในประเทศไทยประสบกับปัญหาใหญ่ๆ 2 ประการคือ ผลผลิตเพิ่มมากเป็นทวีคูณ เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่การปลูก และ ผลิตผลมากระจุกตัวในช่วงของการเก็บเกี่ยว ก็ราวๆ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคม....
อย่างเมื่อปีที่แล้ว (2550) ในคาบเวลานี้ ลำไยภาคเหนือออกจากสวนถึง 373,963 ตัน ราวๆ 93% ของผลผลิตทั้งประเทศ...สร้างความเดือดร้อนเพราะราคาตกต่ำ
ก็ นับว่าโชคดีของประเทศไทยที่ได้ค้นพบ การใช้สารโปตัสเซียมคลอเรตในการชักนำให้ ลำไยออกดอกนอกฤดู ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ถือว่า ดีที่สุดในการแก้ปัญหาผลิตผลลำไยอย่างยั่งยืน
นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้นำแนวนโยบายนี้มอบหมายให้ นางยลวิไล ประสพสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต 6 เชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 16 จังหวัดภาคเหนือ ดำเนินการรณรงค์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูแก่เกษตรกร
และ...ก็ได้นำปฏิบัติการในภาคพื้นสนามมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และตาก ส่วนหนึ่งหันมาทำลำไยนอกฤดู โดยปีนี้ (2551) ได้วางพื้นที่เป้าหมายในการผลิตลำไยนอกฤดูไม่น้อยกว่า 80,000 ไร่ หรือ 9% ของพื้นที่ให้ผลผลิตทั้งประเทศ
นายมนู โป้สมบูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร บอกถึงสถานการณ์โดยทั่วๆไปของลำไยว่า
“ศักยภาพการผลิตลำไยนอกฤดูของไทย ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งสำคัญโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีพื้นที่ผลิตลำไยกว่า 2.7 ล้านไร่ (ไทยมีเพียง 1 ล้านไร่) แต่เขามีปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ช่วงหน้าหนาวอากาศหนาวจัดและนาน ทั้งยังมีฝนตกชุกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน... จึงเป็นปัญหาทำให้ลำไยไม่ออกดอก”
แม้เกษตรกรในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งผลิตใหญ่สุดมีการผลิตลำไยนอกฤดูโดยใช้วิธีการเดียวกับบ้านเรา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของไทยในการส่งออกผลิตผล ไปจำหน่ายในช่วงที่ตลาดต้องการโดยปราศจากคู่แข่ง
นางสาวชุมญานัช คำวงศ์ นักวิชาการ 7 ว. กลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผลฯ ได้เสริมต่อว่า...แนวทางการส่งเสริมเบื้องต้นได้ เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่การเตรียมต้น ตัดแต่งกิ่ง รวมทั้งการใช้สารโปตัสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก การจัดการดูแลรักษาตลอดจนเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตคุณภาพปลอดจากสารเคมี... ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน
โดยการผลิตนั้นควรให้ตรง กับช่วงความต้องการของจีน เช่น ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ สารทจีน (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม) วันชาติจีน 1-10 ตุลาคมของทุกปี และ ตรุษจีน (เดือน ก.พ.)...ซึ่งจะต้องเก็บเกี่ยวก่อนเทศกาลประมาณ 10-15 วัน
นางวันนา เตชะสุรินทร์ หนึ่งในจำนวนหลายรายของเกษตรกรชาวสวนลำไยแห่งบ้านสันเหมือง ตำบลหนองล่อง กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ซึ่งผ่านการอบรมและได้ผลิตลำไยนอกฤดูมากว่า 4 ปี เล่าให้ฟังว่า
“มีสวนลำไย 10 กว่าไร่ ก่อนนี้ทำลำไยในฤดูกาลมาเกือบ 20 ปี มักประสบปัญหาพายุฤดูร้อนทำให้ต้นโค่นล้มเสียหายทุกปี รวมทั้งยังมีปัญหาด้านศัตรูพืชที่มารบกวนผลผลิต ที่ได้ออกมาประดังกันขายไม่ค่อยได้ราคา จึงหันมาทำลำไยนอกฤดู...”
คือพอหลังจาก เข้ารับการอบรมกับทางเกษตรจังหวัด แล้วก็มาคิดตรองดูก่อนตัดสินใจ เห็นว่าน่าจะดีกว่าที่ผ่านๆ มาเลยทำ แรกๆ ก็ทำเพียงนิดหน่อย คือในช่วงเดือนกรกฎาคมจะเริ่มใส่สารโปตัสเซียมคลอเรต พร้อมทั้งดูแลจัดการภายในสวนตามคำแนะนำ ผลผลิตออกมาเก็บได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ตรงกับเทศกาลที่ลูกค้าต้องการทำให้จำหน่ายได้ราคา
ปัญหาเรื่องการตลาดเหมือนก่อนก็หมดไป...จึงยึดเป็นอาชีพทำเรื่อยมา เมื่อเพื่อนชาวสวนเห็นเรามีรายได้โดยไม่คอยไปแย่งกับใครก็ทำตามบ้าง โดยไปอบรมที่สำนักงานเกษตร
ตลอดระยะเวลาในการทำลำไยนอกฤดูแต่ละปี หลังหักต้นทุนทั้งปุ๋ยยาฆ่าแมลงออกแล้ว ยังมีเงินเหลือไม่มากไม่น้อยเลขราวๆ 6 หลักเท่านั้นเอง...บอกแค่นั้นยังไม่พอ “วันนา” ยังมีการแถมท้ายอีกว่า
แม้ว่าบาลำไยนอกฤดูแก่น (ลูก) มันจะน้อย แต่มันก็ขายเซี่ยงทั้งยังได้ราคาตวย ดีกว่าแก่นใหญ่ๆ แล้วขายบ่ได้ ต้องเอาไปยะเป็นลำไยร่วง...ปุดตืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 เมษายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=87090