กะเทาะปัญหาตลาดส่งออก ผักผลไม้ บทเรียนจากเอฟทีเอไทย-จีน
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 51
กะเทาะปัญหาตลาดส่งออก ผักผลไม้ บทเรียนจากเอฟทีเอไทย-จีน
ฤดูกาลสำหรับผลไม้เมืองร้อน ไม่ว่ามังคุด ทุเรียน ลำไย เงาะ ในประเทศไทยกำลังจะวนกลับมาอีกครั้ง ในสถานการณ์ปริมาณสินค้าล้นตลาด การหาช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านกลไกความตกลงเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าต่างๆ จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ได้ระบายสินค้า ออกไป
แต่ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรและผู้ส่งออกผลไม้ชาวไทยยังเกิดขึ้น แม้จะมีเอฟทีเอแล้ว ดังเช่นในรายงานการศึกษาของคณะนักวิจัยโครงการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ด้านนโยบายเศรษฐกิจและด้านการต่างประเทศ : กรณีธุรกิจผักผลไม้ ภายใต้ข้อตกลงทางการค้าเสรีไทย-จีน (ภายใต้กรอบระหว่างอาเซียน-จีน) ซึ่งประกอบด้วยศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอฟทีเอ วอตช์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ร่วมกันจัดทำรายงาน "ผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน และการปรับตัวในระบบธุรกิจผักผลไม้"
ซึ่งระบุว่า ในระดับมหภาค การขยายตัวทางการค้า โดยเฉพาะการขยายตัวของการส่งออกอาจทำให้เชื่อว่าไทยได้ประโยชน์จากการทำเอฟทีเอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การนำเข้าผักผลไม้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบทั้งกับผู้บริโภคและเกษตรกร
โดยในกรณีการส่งออกลำไย มีการเปลี่ยนแปลงของการส่งออก โดยจาก เอฟทีเอไทย-จีน ทำให้มีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตโดยเฉพาะลำไย หรือ "ล้ง" จำนวนมากขึ้นเพื่อส่งให้ ผู้ส่งออกไทย หรือเข้ามาทำหน้าที่เป็นทั้ง ผู้รวบรวมผลผลิตและเป็นผู้ส่งออกเอง
ทำให้ผู้ส่งออกชาวไทยดั้งเดิมต้อง ปรับตัวเพื่อแข่งขันกับผู้ส่งออกชาวจีนมากขึ้น บางรายที่ปรับตัวไม่ทันต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด เพราะถูกพ่อค้าชาวจีนแย่ง "ล้ง" โดยให้ค่าจ้างสูงกว่า ส่วนบางรายที่มีความสามารถในการแข่งขันก็สามารถขยายกิจการ เปิดโรงงานรับซื้อผลผลิตได้มากขึ้น
ในด้านอำนาจต่อรองของราคาสินค้า ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า หลังเอฟทีเอ ผู้ส่งออกมีจำนวนมากขึ้น และสามารถเข้าถึงผลผลิตได้ง่าย มีเสรีในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร
แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ส่งออกไม่ได้แข่งขันกันเพื่อรับซื้อผลผลิตในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจาก 1)มีการรวมตัวของผู้ส่งออกอย่างไม่เปิดเผย คือ ผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลในการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยอิงราคาตลาดในจีน หักด้วยค่าขนส่ง และค่าดำเนินการต่างๆ แล้วประกาศราคารับซื้อหน้าโรงงาน เพื่อเป็นการให้สัญญาณราคารับซื้อผลผลิตแก่ผู้ส่งออกรายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ราคารับซื้อหน้าโรงงานต่างๆ จะไม่แตกต่างกันมากนัก
2)มีความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารสำหรับใช้ในการตัดสินใจเลือกขายผลผลิตของเกษตร คือ มีการแบ่งเกรดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่แตกต่างกันกับเกรดการส่งออก อีกทั้งยังไม่มีมาตรฐานในการรับซื้ออย่างชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้รับซื้อว่าจะให้ขายเท่าไร โดยเกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรองราคา ทำให้ระบบตลาดล้มเหลว
อีกทั้งแม้หลังทำเอฟทีเอ ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า และมีช่องทางการค้าที่มากขึ้น แต่การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนกับไม่ได้ลดอุปสรรคอื่นๆ ลงตามด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินการขนส่งและนำเข้าผักผลไม้จากไทยไปจีนทั้งก่อนและหลังเอฟทีเอ ซึ่งยังคงต้องผ่านตัวแทนโลจิสติกส์ที่เป็นบริษัท ที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีนเพียง 3 บริษัทเท่านั้น โดยเรื่องนี้ยังเป็นการผูกขาดที่ผู้ส่งออกไทยต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามที่บริษัทเหล่านี้กำหนด
หรือการขายผักและผลไม้จากไทยไปจีนยังต้องผ่านบริษัทนำเข้าที่จดทะเบียนในประเทศจีน (trader) เท่านั้น โดยบริษัทเหล่านี้จะทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังตลาดขายส่งและตลาดขายปลีก แล้วได้รับค่า นายหน้าจากการฝากขายและเมื่อขายได้ ก็จะส่งเงินกลับไปยังผู้ส่งออกของไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับเงินค่าสินค้าล่าช้า รวมถึงการที่ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% ที่คิดจากราคาประเมินที่บริษัทกลางเป็นผู้กำหนดทุกๆ 3 สัปดาห์ ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละมณฑล
และการที่ทางการจีนยังเข้มงวดกับการนำเข้าผักและผลไม้ คือ ต้องมีหนังสือรับรองจากทางการไทยสำหรับสวน GAP ซึ่งมีจำนวนน้อยและปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอในการส่งออก ถ้าไม่มีหนังสือรับรองก็จะเกิดความยุ่งยากในการนำเข้า ถูกส่งไปตรวจสอบ ทำให้เสียเวลา และผู้ส่งออกต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (อย่างไม่เป็นทางการ)
ดังนั้น ก่อนผลไม้เมืองร้อนจะทะลัก ออกสู่ตลาด เกษตรกร ผู้รับซื้อ ผู้ส่งออกและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จึงต้องรวบรวมข้อมูลอุปสรรคและเร่งแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ ก่อนที่ปัญหาจะทับถมจนยากเกินจะแก้ไข
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 เมษายน 2551
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02for01240451&day=2008-04-24§ionid=0205
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น