เมื่อวันที่ 25 เมษายน 51
เมื่อเร็วๆนี้ที่กรมชลประทานมีการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ภายหลังการประชุม นายธีระ วงศ์สมุทร อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 31 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 367 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 47,200 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เป็นน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ประมาณ 23,700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณการกักเก็บน้ำเต็มที่ ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งจึงต้องรอบคอบ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้ง ล่าสุดได้ปรับแผนในการบริหารจัดการน้ำใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เกษตรกรที่ทำนาปรังไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง
“ตามแผนเดิมที่วางไว้นั้น กำหนดให้ปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานได้ 11.9 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น การทำนาปรัง 7.5 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.9 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 3.4 ล้านไร่ ปรากฏว่ามีการปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว 13.5 ล้านไร่ โดยเป็นนาปรัง 8.8 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ถึง 1.3 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งปลูกมากกว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 1 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรบางส่วนได้ทำนาปรังรอบที่ 2 แล้ว ปีนี้ข้าวมีราคาดีสูงถึงตันละ 10,000 บาท ทำให้เกษตรกรหันมาทำนาปรังกันมากขึ้น” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
นายธีระกล่าวต่อว่า จากการทบทวนแผน การบริหารจัดการน้ำใหม่ในครั้งนี้ จะทำให้ต้องใช้น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในที่ราบลุ่มภาคกลางเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เมื่อสิ้นฤดูแล้งจะทำให้มีน้ำเหลือในเขื่อนทั้ง 2 แห่งเพียง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น หากในฤดูฝนปีนี้ ปริมาณฝนตกตามเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน จะทำให้เขื่อนทั้ง 2 แห่งมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 14,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ประมาณ 4,300 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ในปีนี้ที่มีถึง 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เกษตรกรจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 เมษายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=87222