เมื่อวันที่ 28 เมษายน 51
งานวิจัยเกี่ยวกับปูนิ่มมีอยู่หลายเรื่อง และทำติดต่อกันมายาวนานพอสมควร มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านนี้มากก็คือ สกว. จนกระทั่งสามารถนำมารวบรวมเป็นเล่ม โดยใช้ชื่อว่า "มองลอดกระดองปูนิ่ม" และในหนังสือเล่มนี้ก็มีการสรุปผลงานวิจัยต่างๆ ที่ได้ทำมาไว้อย่างครบวงจร วันนี้ก็เลยอยากนำบางส่วนบางเล่าให้ฟังว่ามีการวิจัยอะไรไปแล้วบ้างและได้ผลเป็นอย่างไร
หลายคนยังเข้าใจว่าปูนิ่มเป็นปูพันธุ์ใหม่ที่กินได้ทั้งตัว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าปูนิ่มก็คือปูที่เพิ่งจะลอกคราบใหม่ๆ และยังไม่มีหินปูนมาเกาะ ทำให้กระดองยังนิ่มอยู่ แต่ถ้าทิ้งไว้ในน้ำทะเลไม่นานก็จะเริ่มมีหินปูนเข้ามาเกาะจนแข็ง เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวตามธรรมชาติของมัน ดังนั้น ปูนิ่มจึงเป็นช่วงที่ปูอ่อนแอที่สุด เพราะร่างกายไม่มีเกราะป้องกัน จึงกลายเป็นอาหารของสัตว์อื่นได้ง่ายมาก การแข็งตัวของกระดองเป็นไปค่อนข้างเร็วมาก ฉะนั้นถ้าไปเสาะหาปูนิ่มตามธรรมชาติก็จะลำบากมาก เพราะว่าไม่ทันกับการแข็งตัวของกระดอง การเลี้ยงปูนิ่มจึงเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำเงินได้มาก และเป็นผลให้เรามีปูนิ่มบริโภคได้ทั้งปี ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการผลิตปูนิ่มก็ต้องมีความละเอียดมากกว่าการเลี้ยงปูทั่วๆ ไป
ตอนนี้เรามีงานวิจัยที่เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและการผลิตในเชิงการค้า มีเรื่องของการเพาะเลี้ยงลูกปู เรื่องของการเก็บรักษาปูนิ่มให้มีคุณภาพสูงอยู่ได้นาน ไปจนถึงการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากปูนิ่ม จนกระทั่งชาวบ้านสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการเลี้ยงและขายอย่างได้ผลดีมาแล้ว
การเลี้ยงปูนิ่มในระยะแรกนั้น ดูแล้วค่อนข้างทารุณสัตว์มาก เพราะว่าการกระตุ้นให้เกิดการลอกคราบเพื่อกลายเป็นปูนิ่มนั้น เชื่อกันว่าใช้วิธีการตัดก้ามและตัดขาเดินเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้วถ้าปูไม่สมบูรณ์และเกิดความเครียดก็จะไม่ลอกคราบ แม้จะเอาไปตัดขาก็ตาม ผลก็คือหลังจากที่ได้ปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านั้นมาระยะหนึ่ง ปูที่แข็งแรงก็สามารถลอกคราบได้ แต่ตัวที่อ่อนแอก็ถึงขั้นตายไปเลย หากไม่ตายและมีการลอกคราบได้ก็กลายเป็นปูที่มีขาไม่ครบ กลายเป็นปูนิ่มเกรดต่ำ ขายไม่ได้ราคา
แต่ว่าในระยะหลัง วิธีการดังกล่าวเริ่มหายไปแล้ว และมีการพัฒนาการเลี้ยงขึ้นมาใหม่ โดยมีเหตุผลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ จ.ระนอง ซึ่งเป็นต้นแบบในการเลี้ยงปูนิ่มตามแนวใหม่นี้ นั่นก็คือแทนที่จะนำมาตัดก้าม ก็ปล่อยลงเลี้ยงไว้ในกรงขัง กรงละตัวเหมือนกับไก่ไข่ แล้วรอจนกว่าจะลอกคราบจึงเอาขึ้นมาขาย ซึ่งปัจจุบันวิธีการนี้ได้แพร่หลายไปทั่ว
ผลก็คือได้ปูนิ่มที่มีคุณภาพ และไม่เป็นการทารุณสัตว์ จึงเป็นการเริ่มเปิดมิติใหม่ของการเลี้ยงปูนิ่มขึ้น โดยที่การพัฒนาในส่วนนี้ จุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์และการสังเกตของเกษตรกรผู้เลี้ยง ซึ่งเคยมีประสบการณ์การเลี้ยงไก่บนบ่อปลามาก่อน จึงดัดแปลงแนวคิดนี้มาใช้ในการเลี้ยงปูนิ่ม ซึ่งกลายเป็นต้นแบบในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงมีงานวิจัยหลายเรื่องที่เข้ามาเสริมและทำให้ธุรกิจการเลี้ยงปูนิ่ม
ทุกวันนี้การเลี้ยงปูนิ่มกลายเป็นอุตสาหกรรมทำรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงได้อย่างมากมายในยุคปัจจุบันครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 เมษายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/04/28/x_agi_b001_200027.php?news_id=200027