เมื่อวันที่ 28 เมษายน 51
ภาคปศุสัตว์ ในบ้านเราโดยเฉพาะกลุ่มสัตวบาลผู้เลี้ยงโคทั้งโคเนื้อและโคนมมักประสบกับภัยจาก หมัด เห็บโค ฯลฯ เกษตรกรส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาด้วยการใช้ ยาฆ่าเห็บ (Acaricides)
และหากคำนวณจากจำนวนโค-กระบือทั้งประเทศก็จะต้องซื้อสารเคมีเพื่อใช้ในการปราบเห็บเป็นเงินเกือบ 800 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ต้องจ่ายออกไปนอกประเทศ
รศ.น.สพ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ กับ รศ. น.สพ.ดร.ธีระพล ศิรินฤมิตร และ น.สพ.กัญจน์ แก้วมงคล กับทีมงานจากภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกันวิจัยและ ผลิต “วัคซีนต่อต้านเห็บโค” หรือ (Boophilus microplus)-(KU-VAC1) ขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคปศุสัตว์ของประเทศไทย ให้เทียมบ่าเทียมไหล่ประเทศพัฒนาอื่นๆ
รศ.น.สพ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ บอกว่า งานวิจัยนี้เริ่มด้วยการค้นหา แอนติเจน ของวัคซีน (Bm86) ในระบบทางเดินอาหารของเห็บโค แล้วแยกออกมาทำการศึกษาพันธุกรรมของโปรตีน Bm86 และ Bm95 ก่อนหา การจัดเรียงตัวของเบสในสาย nucleotide เพื่อถอดรหัสพันธุกรรม....จากนั้นจึงนำไปต่อเข้ากับ พันธุกรรมของพาหะ (ยีสต์) เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน
จนถึงขั้นตอนสุดท้ายการถอดรหัส กรดอะมิโนของโปรตีน Bm86 เพื่อยืนยันผลเปรียบเทียบกับโปรตีนชนิดแรกที่นำมาทำเป็นแอนติเจนของขบวน การผลิตวัคซีน จากประเทศออสเตรเลีย
การพัฒนา แอนติเจน จากต่อมน้ำลายของเห็บโค คือ Bm91, Calreticulin (CAL) และ Serpins เป็นแอนติเจนที่สามารถนำมาทำ วัคซีนต่อต้านเห็บโค ได้ เนื่องจากโปรตีน CAL มีบทบาทสำคัญในการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆของตัวเห็บ โดยเฉพาะต่อมน้ำลายที่ใช้ในการดูดกินเลือดซึ่งเป็นอวัยวะที่เชื้อโรคหลายชนิดอาศัยอยู่
วัคซีนต่อต้านเห็บโค สามารถออกฤทธิ์โดยตรงต่อเซลล์ต่อมน้ำลาย ส่งผลให้เห็บลดการกินอาหารและตายไปในที่สุด ข้อดีของวัคซีนที่เตรียมจากต่อมน้ำลาย จะนำมาใช้ร่วมกับ Bm86 และ Bm95 เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนต่อต้านเห็บโคมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันผลิตเชิงพาณิชย์ (ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนต่อต้านเห็บโค ของคิวบาและออสเตรเลีย แต่ใช้แอนติเจนเพียงชนิดเดียวคือ Bm86 หรือ Bm95)
ซึ่งทีมงานได้รวบรวมรายละเอียด ลักษณะพันธุกรรมของโปรตีน ทั้ง 5 ชนิดยื่นจดสิทธิบัตร และงานวิจัยนี้จะนำเสนอสู่สังคมในการแสดง นวัตกรรมงานวิจัย ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มก.บางเขน ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. ถึง 4 พ.ค.51
อันเป็นกิจกรรมนำเสนองานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนำผลงานต่างๆมากกว่า 1,000 ชิ้นงาน จากแฟ้มวิชาการมาสู่สายตาของสังคม...ผู้ที่สนใจในศาสตร์เกษตรไม่ควรพลาด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 เมษายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=87690