สถานการณ์สินค้าเกษตรปี 2551
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 51
สถานการณ์สินค้าเกษตรปี 2551
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คาดการณ์แนวโน้มปี 2551 ถึงมูลค่ารายได้จากภาคการเกษตรว่า ในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะพืชพลังงานทดแทน ทั้งในรูปของไบโอดีเซล และ เอทานอล ขณะเดียวกันประเทศไทยยังสามารถผลิตสินค้าอาหารเพื่อการส่งออกได้เพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนกว่า 200 ล้านคน ซึ่งทำให้ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันหากสามารถปรับการผลิตสินค้าอาหารให้อยู่ในรูปของสินค้าพลังงานให้มากขึ้นคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าพลังงานลงได้ และจะเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยการดำเนินการเรื่องพืชพลังงานมีการตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศจำนวน 2,500,000 ไร่ ในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า
ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2555 ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศเพียงพอที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลร้อยละ 10 หรือประมาณวันละ 8.5 ล้านลิตร ตามนโยบายลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ นอกจากนี้จะมีการให้ความสำคัญด้านการพัฒนาสินค้าการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อาทิ การแปรรูปข้าว และส่งเสริมให้มีการใช้แป้งข้าวเจ้าในการผลิตขนมปังแทนแป้งสาลี เพื่อทดแทนการนำเข้าแป้งสาลี เป็นต้น นอกจากนี้ในด้านการค้ากับต่างประเทศจะมีการ เน้นการเปิดตลาดใหม่ เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งตั้งเป้าที่จะส่งออกสินค้าฮาลาลให้ได้ ประมาณ 3,500 ล้านบาท ในปี 2551
สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และยางพารา สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ในภาพรวมผลผลิตและราคาพืชต่าง ๆ ยังคงเพิ่มขึ้น และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2551 มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรสาขาพืช จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.3 สาขาปศุสัตว์ มูลค่าการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 7.5 เนื่องจากปริมาณการผลิตไก่เนื้อมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาไก่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาการเลี้ยงอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานมากขึ้น ในขณะที่สุกรมีราคาลดลง ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรการผลิตสุกร
สำหรับแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ปี 2551 นั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.6 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรโดยรวมในปี 2550 ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในกลุ่มพืชที่ผลิตเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดต่างประเทศยังมีแนวโน้มสดใส และการดำเนินการของภาครัฐยังคงต่อเนื่องในการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของการผลิตสินค้าเกษตร โดยสาขาพืช ปศุสัตว์ ประมง และบริการทางการเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 6.1 3.1 และ 3.3 ตามลำดับ ส่วนสาขาป่าไม้คาดว่าจะขยายตัวลดลงร้อยละ 8.4
นักวิเคราะห์ผลผลิตภาคการเกษตรคาดการณ์กันว่า ยุโรปจะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากกระแสความนิยมด้านสุขภาพและการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในหมู่ผู้บริโภคยุโรปเป็นกระแสที่มาแรงที่สุดของโลกในตอนนี้ ขณะเดียวกันผู้บริโภคยุโรปจะมีกำลังซื้อสูง จึงสามารถซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปได้ ประกอบกับปัจจุบันสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการค้าเกษตรอินทรีย์และการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเพื่อขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยสหภาพยุโรปได้ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 80 ล้านยูโรต่อปี สำหรับการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าและหาช่องทางตลาดใหม่ของเกษตรอินทรีย์
ฉะนั้นแนวทางการผลิตภาคการเกษตรของไทยในปี 2551 เกษตรอินทรีย์ดูน่าจะมีบทบาทมากขึ้น และแนวโน้มที่ดีกว่า หากมีการบริหารจัดการกันอย่างครบวงจร นับตั้งแต่ขบวนการผลิต แหล่งผลผลิต และชนิดพืชอาหารที่ผลิต ไปจนถึงการรุดหน้าทำการตลาดพร้อมทั้งมีระบบการขนส่งที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา แนวโน้มที่สินค้าเกษตรตัวนี้จะก้าวเข้ามาเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=151038&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น