'ไบโอแก๊ส' จากฟาร์มไก่ไข่ ไร้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 51
'ไบโอแก๊ส' จากฟาร์มไก่ไข่ ไร้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจนวัดสระแก้ว เป็นสถานสงเคราะห์เอกชน การดำเนินการทั้งหมดนั้นทำโดยพระสงฆ์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2485 มีเด็กในสถานสงเคราะห์ฯ อายุตั้งแต่ 3 ขวบ-15 ปี
ที่นี่มี โครงการเลี้ยงไก่ไข่ ที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานซีพี เข้ามาเห็นว่าในสถานสงเคราะห์มีการทำการเกษตร มีการปลูกผัก มีการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน และมีกิจกรรมทางการเกษตรพื้นฐาน จึงริเริ่มให้เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัวในโรงเรือนเปิด ซึ่งในการเลี้ยงไก่ 100 ตัวนี้มีการจดบันทึกเป็นขั้นตอน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ต่อมาจึงเพิ่มเป็น 1,000 ตัวในโรงเรือนเปิด
ต่อมาในปี 2545 จึงมีการทำแบบโรงเรือนปิด ในพื้นที่เดิมนี้ มีการสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์โดยใช้เงินลงทุนกว่า 18 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการให้นักเรียนมีไข่กิน และให้โอกาสเด็ก ๆ ได้มีการเรียนรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่การเลี้ยงแบบโรงเรือนเปิดคือ การเลี้ยงแบบชาวบ้าน แล้วค่อย ๆ พัฒนาสู่การเรียนรู้รูปแบบฟาร์มแบบโรงเรือนปิด
ที่จะเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือ ที่นี่มีการบำบัดของเสียโดยนำมูลไก่ไข่มาทำ Biogas ซึ่งที่นี่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ดูงานของโรงเรียนต่าง ๆ ของจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดอื่น ๆ แม้กระทั่งต่างประเทศ
การบำบัดของเสียโดยใช้การทำไบโอแก๊สแบบ cover lagoon ซึ่งมูลไก่ทั้งหมดจะลงสู่ระบบและเมื่อเกิดการหมักก็ทำให้เกิดแก๊ส และนำแก๊สเข้ามาปั่นเครื่อง generator เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในฟาร์ม เมื่อก่อนที่ยังไม่มีระบบนี้ค่าไฟเดือนละ 1.3 แสนบาท เฉพาะฟาร์มนี้ซึ่งมี 4 โรงเรือน แต่พอทำระบบนี้ ค่าไฟเหลือเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท คือ ลดไปถึง 80% ทำให้ ลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงไป และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นก็หมดลงไปด้วย
นายประธาน จองปั่น รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจครบวงจรภูมิภาค บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ แนะว่า การทำไบโอแก๊สจะต้องดูเรื่องราคาขี้ไก่ด้วย อย่างทางภาคตะวันออกที่มีสวนผลไม้เยอะ ๆ ราคาขี้ไก่ก็ดี ตัวหนึ่งอาจขายขี้ไก่ได้ที่ 1.50 บาท มีไก่ซัก 1 แสนตัวก็ได้แสนห้าต่อเดือน แต่อย่างภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือขี้ไก่อาจมีมูลค่าน้อยกว่า คิดแล้วหากนำมาทำไบโอแก๊สก็คุ้มกว่า อย่างวันนี้เราประหยัดไปได้ 7 หมื่นก็เกือบตัวละบาท จาก 1 แสนบาทในส่วนของค่าไฟ ไม่ต้องหาคนมาซื้อขี้ไก่ เอาลงบ่อหมักเราเลยซึ่งหากเทียบจากปริมาณไก่ก็ได้เกือบตัวละ 1 บาทต่อเดือน ภาคตะวันออกก็อาจได้ที่ 1.20-1.50 บาทต่อเดือนแต่ต้องขึ้นกับฤดูกาลด้วย
“นอกจากนี้การที่เราทำไบโอแก๊สเราก็ยังมีมูลไก่ในบ่อที่สามารถนำขึ้นมาตากทำเป็นปุ๋ยได้ นำไปตาก กลายเป็นปุ๋ยที่ไม่มีกลิ่น ซึ่งดีมาก บางทีดีกว่าขี้ไก่สดที่ยังไม่ผ่านการหมักเสียอีก เพราะมันอาจเค็มเกินไป”
นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ เกษตรกรรายอื่นสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ ใช้กับฟาร์มของตนได้ต่อไป หากว่าฟาร์มใดทำระบบไบโอแก๊สเชื่อว่าจะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ลดค่ากระแสไฟฟ้าและแน่นอนที่สุดทำให้ลดต้นทุนการผลิตลง...อันเป็นผลดีต่อเกษตรกรและชุมชนโดยรอบ และหากว่าทุก ๆ ฟาร์มทำระบบไบโอแก๊ส ย่อมส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม จริงไหม
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162076&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น