วิจัยลบคำสบประมาท 'ข้าวรักษาโรค' 'มรดกไทย' พันธุ์ใหม่
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 51
วิจัยลบคำสบประมาท 'ข้าวรักษาโรค' 'มรดกไทย' พันธุ์ใหม่
ในประเทศไทยมีการวิจัยพันธุ์ข้าวอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีต่างประเทศกล่าวถึงงานวิจัยของเราในทางที่ไม่ดี พัฒนาไม่ดีพอ” ...เป็นการระบุของ วุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในโอกาสนำคณะสื่อมวลชนไปดูงาน “วิจัยพันธุ์ข้าว” ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ณ หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
นี่ก็เป็นอีกโปรเจคท์ “วิจัยข้าว” ที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ เรื่องของ “ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทยนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อประชาชนคนไทย-ชาวนาไทย ทรงให้ความสนพระทัย และทรงสนับสนุนการวิจัยข้าวมานานแล้ว
“เมื่อปี 2548 ได้มีการพัฒนาข้าวพันธุ์หอมมะลิ ซึ่งไม่ใช่ข้าวจีเอ็มโอ สามารถทนน้ำท่วมได้นานถึง 2 สัปดาห์” ...ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ระบุ ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ผอ.หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ระบุถึงการวิจัยพันธุ์ข้าวว่า... พันธุ์ปัจจุบันที่ทำนั้นมีชุดข้าวขาวดอกมะลิ 105 หลายชุด มีทั้ง ทนน้ำท่วมฉับพลัน, ทนแล้ง, ทนโรค, ทนไหม้, ทนโรคขอบใบแห้ง, ทนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันมีพัฒนาการบินได้ไกลมากขึ้น เนื่องมาจากปัญหาสภาวะแวดล้อมโลกที่ร้อนขึ้น และการที่เกษตรกรเพิ่มการใช้ปุ๋ยอย่างมหาศาล ซึ่งแมลงเหล่านี้เป็นปัญหาในเขตพื้นที่ชลประทาน และขณะนี้ก็กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสำหรับพื้นที่ปลูกข้าวในเขตภาคกลาง
ข้าวพันธุ์หอมมะลิมีปัญหาหลายอย่าง ในเรื่องโรคแมลง แต่ข้าวหอมมะลิก็สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งทางหน่วยงานวิจัยได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิในเรื่องความหอม และยังมองถึงคุณค่าโภชนาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พร้อมทั้งการเพิ่มผลผลิตให้สูงกว่า 300 กก./ไร่
การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ มีการทำโดยการตัดต่อทางพันธุกรรมของการพัฒนาข้าวตามลำดับ ทั้งในด้านเชิงรับ เพื่อลดการสูญเสียของผลผลิต ปรับปรุงความต้านทาน ความทนทาน และในด้านเชิงรุก ทำเพื่อถ่ายทอดคุณสมบัติของข้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหอม และคุณค่าทางโภชนาการ
“งานวิจัยต่อไปคือการรวมจุดเด่นของทุกอย่างมาขยุ้มรวมกันเป็นซูเปอร์ข้าวหอมมะลิ ซึ่งงานวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นเป็นการแก้ไขจุดเสีย ซึ่งเมื่อแก้ไขจุดเสียได้เราก็จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นต่อไป โดยทำอย่างไรจะให้ต้นเตี้ยลง ให้ได้เมล็ดข้าวที่หนักมากขึ้น” ...นักวิชาการรายนี้ระบุ
และยังบอกต่อไปอีกว่า... ข้าวขาวดอกมะลิที่ทนน้ำท่วมฉับพลันนั้น ได้มีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาไปใช้ปลูกบ้างแล้ว แต่ยังกระจายได้ไม่มากเพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาก ๆ
ทั้งนี้ นอกจากการวิจัยข้าวขาวดอกมะลิแล้ว งานวิจัยยังมองไกลและทำไปถึงเรื่องการผลิตข้าวคุณภาพ ข้าวที่มีธาตุเหล็กสูง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าง “ข้าวสินเหล็ก” และ “ข้าวไรซ์เบอรี่” ซึ่งเป็นลูกของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งพันธุ์แรกอาจจะ ดีต่อคนที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะแป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลช้าลง ส่วนอีกพันธุ์ มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก มีประโยชน์ในเชิงยา นำรำและน้ำมันไปทำเป็นยาลูกกลอน สามารถทานเพื่อแก้โรคภัยต่าง ๆ มีสารต้านเซลล์มะเร็ง แก้โรคไขข้ออักเสบ
เรื่องข้าวคุณภาพนี้ ทาง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็บอกว่า การพัฒนาคุณภาพข้าวเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแร่ธาตุบางอย่าง เช่น โฟเลท ถ้ารับประทานก่อนมีลูกทั้งพ่อและแม่ ลูกที่เกิดมาจะลดความเสี่ยงพิการลงได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันไทยมีปัญหาเด็กที่เกิดมามีความพิการมากขึ้น เพราะขาดโฟเลท ทั้งนี้ ข้าวไรซ์เบอรี่กับสินเหล็ก มีคุณภาพทางโภชนาการสูง มีโฟเลทสูง ถือว่าเป็นความโชคดีของไทยเราที่พบข้าวพันธุ์นี้
“ศักยภาพงานวิจัยข้าวของไทยนั้นค่อนข้างสูงมาก เราสามารถติดตามดีเอ็นเอได้หมด ตรงไหนมันหอม ตรงไหนมีคุณสมบัติอะไร เรารู้หมดแล้ว ทำให้สามารถสร้างพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ผสมข้ามพันธุ์ได้ใช้ประโยชน์ได้”...รมว.วิทยาศาสตร์ฯกล่าว และว่า... สิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมเพิ่มเติมอีก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยพัฒนาข้าวของไทยให้ดียิ่งขึ้น ก็คือเรื่องเครื่องมือ-อุปกรณ์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ
สอดคล้องกับที่ ผอ.หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ระบุว่า “การวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก” เพราะลงทุนสูง ต้องมีพื้นที่นาปลูกข้าวและขยายสายพันธุ์ ขยายจำนวนอย่างเพียงพอ ต้องมีโรงสี ต้องมีห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ควบคุมอุณหภูมิความร้อน ความชื้น การหีบห่อ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทุกขั้นตอน และรวมถึง ต้องใช้เวลามากด้วย ซึ่งจากการระบุดังกล่าวนี้ก็ย่อมสะท้อนว่า ถ้าทุกอย่างพร้อมมากขึ้น มีการสนับสนุนส่งเสริมเต็มที่ การวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยก็จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีก
ประเทศไทยเราเป็นที่หนึ่งในโลกสำหรับเรื่อง “ข้าว”
กับการ “วิจัยข้าว” เราก็ทำกันหลายเรื่อง-หลายที่
ถ้ารวมศูนย์และต่อยอดได้จริงจัง...ก็คงจะดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=56418&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น