'ลำไยนอกฤดู' หนึ่งทางรอด เลี่ยงปัญหาสินค้าล้นตลาด-ราคาตกต่ำ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 51
'ลำไยนอกฤดู' หนึ่งทางรอด เลี่ยงปัญหาสินค้าล้นตลาด-ราคาตกต่ำ
การผลิตลำไยนอกฤดู เป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดกระจุก ตัวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งมีลำไยสดช่อออกสู่ตลาดมากถึง 87% สำหรับปี 2551 นี้ กระทรวงเกษตรฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ โดยมีกรรมการจากภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร ร่วมจัดทำมาตรการบริหารการผลิตและการตลาดลำไยทั้งระบบไว้แล้ว เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยของไทย ประมาณ 2.4 แสนราย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกลำไยที่ให้ผลประมาณ 939,029 ไร่
นายทรงศักดิ์ วงษ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพดีป้อนตลาดเพื่อกระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลอดทั้งปีไม่ให้กระจุกตัวมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรขายได้ราคาสูงกว่าลำไยในฤดู อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและสร้างความได้เปรียบให้แก่สินค้าไทยเป็นต่อประเทศคู่แข่ง ทั้งจีนและเวียดนาม โดยเฉพาะจีนถึงแม้จะมีพื้นที่ปลูกลำไยกว่า 2.7 ล้านไร่ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย มีอากาศหนาวจัดและระยะเวลานาน ทำให้ไม่สามารถควบคุมการออกดอกได้ การผลิตลำไยนอกฤดูของจีนจึงไม่ประสบผลสำเร็จนัก
ขณะที่ทางตอนใต้ของเวียดนามซึ่งสามารถผลิตลำไยได้ 2 ปี 3 ครั้ง แต่พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า คือ กลุ่มพันธุ์ Xuong เป็นพันธุ์ที่มีเมล็ดโต เนื้อบาง และกลุ่มพันธุ์ Tieu เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กและเนื้อหนา เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พันธุ์ลำไยของไทยยังได้เปรียบมากกว่าส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนาม ถึงแม้เกษตรกรจะใช้กลุ่มพันธุ์ Long คล้ายกับพันธุ์ลำไยของไทย แต่พื้นที่ดังกล่าวมักประสบปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศเหมือนกับจีน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตลำไยนอกฤดู ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสดีของเกษตรกรไทยที่จะผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพดีป้อนตลาดได้อย่างไร้คู่แข่ง
ทางด้าน นางยลวิไล ประสมสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพดีไม่น้อยกว่า 80,000 ไร่ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่ดีและเหมาะสมให้แก่เกษตรกรที่สนใจผ่านศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ เน้นให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีไปใช้ในสวนอย่างจริงจัง อาทิ การตัดแต่งกิ่งจัดทรงพุ่มให้เตี้ย หรือตัดทรงพุ่มให้โปร่ง จัดทำระบบน้ำให้ดี และต้องรู้ถึงลักษณะของลำไยที่พร้อมจะใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต ซึ่งเป็นสารเร่งการออกดอกเป็นต้น
นอกจากนั้น ยังแนะนำให้เกษตรกรบริหารจัดการสวน ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงราคาดี เช่น แบ่งพื้นที่ สวนเป็น 3 ส่วน ผลิตลำไยนอกฤดู 2 ส่วน ในฤดู 1 ส่วน หรือแบ่ง ทำนอกฤดูครึ่งสวนปีเว้นปี หรือผลิตลำไยนอกฤดูทั้งหมดทุกปี โดยตั้งเป้าให้ลำไยออกนอกฤดูมากกว่า 80%
นางยลวิไลกล่าวย้ำว่า ขั้นตอนการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อเร่งการออกดอกของต้นลำไยนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรควรใส่ใจ โดยการใช้สารดังกล่าวควรใส่เมื่อต้นลำไยมีความพร้อม ทั้งยังต้องใส่ในปริมาณที่เหมาะสม และใส่ให้ถูกวิธีเหมาะสมกับระบบน้ำ ที่สำคัญเกษตรกรต้องใช้สารด้วยความระมัดระวังด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรทำให้ลำไยติดผลแต่พอดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และต้องเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะขายได้ราคาดี ช่วยลดปัญหาขาดทุนได้
อย่างไรก็ตาม หากสนใจเกี่ยวกับเทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดู สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5321-1448, 0-5322-1228 หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกแห่ง ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 เมษายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162296&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น