ทางเลือกเกษตรกรไทย 'อินทรีย์-ชีวภาพ' ความหวัง 'สู้ปุ๋ยแพง'
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 51
ทางเลือกเกษตรกรไทย 'อินทรีย์-ชีวภาพ' ความหวัง 'สู้ปุ๋ยแพง'
ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชอาหารกำลังมีราคาสูง-ราคาดี โดยเฉพาะ “ข้าว” จนมีการระบุว่าเป็นยุคทองของเกษตรกร เป็นยุคลืมตาอ้าปากของชาวนา ในข้อเท็จจริงแล้ว “ต้นทุน” ในการผลิตพืชอาหาร-การปลูกข้าว ก็กำลังทะยานสูงขึ้นตามติดราคาขายผลิตผล จนที่สุดแล้วเกษตรกรก็คงมิได้ดีขึ้นมากนัก
และหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญก็คือ “ราคาปุ๋ย”
ที่ยุคนี้กำลัง “แพง” แข่งกับราคาผลผลิต
จากราคาปุ๋ยที่แพง ซึ่งในที่นี้หมายถึง “ปุ๋ยเคมี” ก็ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ “ปุ๋ยอินทรีย์” “ปุ๋ยชีวภาพ” ในการเพาะปลูก เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ได้มีการจัดสัมมนาโดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการฟื้นฟูการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ขณะที่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ก็แสดงท่าทีสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ โดยมองว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงลงได้ในระดับหนึ่ง
แนวคิดทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยการใช้ “ปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพ” นั้น ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ถูกพูดถึงกันมานานแล้วในหลาย ๆ รัฐบาล ด้วย “จุดดี-จุดเด่น” ที่มีหลายประการ
ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร อธิบายความหมาย-ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ไว้ดังนี้
“ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic Fertilizer)” หมายถึงปุ๋ยที่ได้จากการย่อยสลายของวัสดุอินทรีย์สาร ทั้งพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่าง ๆ และเป็นประโยชน์ต่อพืช
ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์ คือ 1.ช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณสมบัติทางกายภาพของดิน เช่น ความโปร่ง ความร่วนซุย ความสามารถในการอุ้มน้ำ และการปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน, 2.อยู่ในดินได้นาน และค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้า ๆ จึงมีโอกาสสูญเสียน้อยกว่าปุ๋ยเคมี
3.เมื่อใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะส่งเสริมปุ๋ยเคมีให้เป็นประโยชน์แก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะมีธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม อยู่เกือบครบถ้วนตามความต้องการของพืช และ 4.ช่วยส่งเสริมให้จุลชีพในดินที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงดินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ปุ๋ยชีวภาพ (Bio Fertilizer)” เป็นคำศัพท์ทางด้านปุ๋ยที่ใช้กัน ทั่ว ๆ ไปในหลักวิชาการปุ๋ยสากล โดยได้มีการบัญญัติศัพท์นี้ขึ้นจากศัพท์ภาษาอังกฤษ biological fertilizer ซึ่งเป็นการนำคำว่า ปุ๋ย ที่หมายถึงธาตุอาหารพืช กับคำว่าชีวภาพ ที่หมายถึงสิ่งที่มีชีวิต มาสมาสกัน
ดังนั้น ปุ๋ยชีวภาพจึงหมายถึงปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช หรืออาจเรียกว่า “ปุ๋ยจุลินทรีย์” และตามคำจำกัดความนี้จะเห็นได้ว่าไม่ใช่จุลินทรีย์ทุกชนิดจะใช้ผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ แต่ต้องเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถสร้างธาตุอาหารขึ้นทางชีวภาพแล้วแบ่งให้พืชใช้ได้ หรือมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะเจาะจงในการสร้างสารบางอย่างออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุอาหารหลักที่สำคัญ 3 ชนิดคือ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม
ปุ๋ยชีวภาพแบ่งตามลักษณะการให้ธาตุอาหารแก่พืชได้ 2 ประเภทคือ ปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์สร้างธาตุอาหารพืช และปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช
ข้อดีของปุ๋ยชีวภาพ คือ 1.เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ที่มีผลต่อการเติบโตของพืช, 2.ให้ธาตุอาหารและกระตุ้นให้จุลินทรีย์สร้างอาหารกว่า 93 ชนิดแก่พืช, 3.ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติ และโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อพืช, 4.ช่วยดูดซับหรือดูดยึดธาตุอาหารไว้ให้แก่พืช
5.ช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่าพีเอช (pH) ของดิน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช, 6.ช่วยกำจัดและต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคต่าง ๆ แก่พืช และ 7.ทำให้พืชสามารถสร้างพิษได้เอง ซึ่งจะทำให้พืชสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ดี
นี่คือข้อมูลจำเพาะและข้อดีของ “ปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพ” ปุ๋ยที่ถูกปัดฝุ่นมาพูดถึงกันมากอีกครั้ง ในยามที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพงและทำท่าจะขาดแคลน ในขณะที่ความต้องการใช้กำลังเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การปัดฝุ่นแนวคิดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพในการเพาะปลูกพืช เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี มีเจตนาหลักอยู่ที่การช่วยลดต้นทุนการผลิตจากราคาปุ๋ยเคมี เพราะ “ต้นทุนปุ๋ยจะถูกลง” ช่วยให้เกษตรกร-ชาวนามีกำไรเพิ่มขึ้นจากราคาผลผลิต ขณะเดียวกัน ปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพยังถือว่า “ดีต่อสิ่งแวดล้อม-ต่อสุขภาพ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปัดฝุ่นมาพูดถึงอีกครั้ง ก็จะเป็นอีกคราที่เกิดประเด็นคำถาม คำถามที่ตามมาก็เช่น... การส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพจะแพร่หลายในวงกว้างได้จริงหรือ? การทำให้เกษตรกรยอมรับและใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างจริงจังจะทำได้แค่ไหน ? พูดกันมานานถึงข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์-ปุ๋ยชีวภาพแต่ทำไมจนถึงวันนี้ก็ยังมีการใช้จริงในสัดส่วนที่น้อยมาก ? อะไรคืออุปสรรค-อะไรทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ
ทำไมจนวันนี้ “เคมี” ยังแรงกว่า “อินทรีย์-ชีวภาพ”
ทำไมจึง “ต้องปัดฝุ่นส่งเสริมกันครั้งแล้วครั้งเล่า”
หรือไม่น่าคิด...ว่าทำไม
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=56522&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น