เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 51
ปัจจุบันประเทศไทยของเรากลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารทะเล และสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่ปลูกข้าวเพื่อการส่งออกได้มากจนติดอันดับ ต้น ๆ ของโลก เมื่อมีการเกี่ยวข้าวก็จะเหลือส่วนที่เราไม่ต้องการนั้นก็คือฟางข้าวนั่นเอง ฟางข้าวที่ได้จะมีปริมาณมากกว่าข้าวเปลือกที่เกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่มักนำฟางข้าวไปเผาเพื่อทำลาย อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่า เมื่อมีการเผาฟางข้าวให้เป็นขี้เถ้าก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่การเพาะปลูกในครั้งต่อไป ซึ่งจริง ๆ แล้วการเผาฟางข้าวเป็นการทำให้หน้าดินเสื่อมคุณภาพ และเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ยิ่งมีการเผาฟางข้าวใกล้ถนนที่สัญจรจะทำให้เกิดหมอกควันมีผลต่อการมองเห็นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง
จากเหตุผลดังกล่าว นายสรพงษ์ พูนภักดี, นายนำโชค ชูเชิด, นายวัชรินทร์ รองเดช นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จึงทำการสร้าง “เครื่องย่อยฟางข้าวผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ” โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพแบบวิธีดั้งเดิม แล้วนำวิธีการเดิมมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องย่อยฟางข้าวผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ สำหรับขั้นตอนการทำโครงสร้างของเครื่อง นักศึกษากล่าวว่าต้องเลือกเหล็กที่สามารถรองรับน้ำหนักของเครื่องยนต์ สามารถรับแรงกระแทก การสั่นสะเทือนจากหมุนตัด เลือกใช้ล้อยางในการรับน้ำหนัก และช่วยลดการสั่นสะเทือน โครงของเครื่องย่อยฟางข้าวแล้วทำปุ๋ยหมักชีวภาพ สร้างจากเหล็กขนาด 3.81 เซนติเมตร หนา 0.63 เซนติเมตร ซึ่งทำหน้าที่เป็นคานทั้งหมด และใช้เหล็กท่ออาบสังกะสีทำหน้าที่เป็นเสาของโครงและฐานของเสาใช้ท่อยาง จำนวน 4 ล้อ และล้อเหล็ก จำนวน 3 ล้อ จากนั้นทำชุดเครื่องมือลดขนาดเริ่มจากการสร้างชุดใบมีดตัด และสร้างอุปกรณ์บังคับทิศทางการตัด ตะแกรงกรอง ทำชุดถังผสมปุ๋ยให้มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกแล้วใส่ชุดใบกวนส่วนผสมและเพลาขับ ประกอบสายพาน ทำชุดตัดต่อส่งกำลังมอเตอร์ซึ่งเป็นตัวตัดต่อส่งกำลังระหว่างเพลาขับของเครื่องกวนส่วนผสมกับชุดขนถ่าย จากนั้นทำชุดถังพักน้ำและชุดจ่ายน้ำในการผสมทำการติดตั้งระบบท่อจ่ายน้ำ จากการทดลองใช้เครื่อง โดยการนำฟางข้าว 4 กิโลกรัม มาตัดโดยใช้เครื่องมือลดขนาดที่มีความเร็วรอบ 1600 rpm (เป็นความเร็วที่มีประสิทธิภาพในการทำงานดีที่สุด) จะใช้เวลาในการตัด 12 นาที จากนั้นใส่ส่วนผสมต่าง ๆ ในถังผสมแล้วใช้เวลาในการผสม 4 นาที ใช้เวลาในการขนถ่ายปุ๋ยหมักชีวภาพ เวลา 5 นาที ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 170 cc คิดเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงิน 5.44 บาท ใช้ระยะเวลาในกระบวนการผลิตประมาณ 21 นาที
จะเห็นได้ว่า “โดยการนำฟางข้าวไปย่อยสลายให้ได้ขนาดเล็ก ๆ นำไปผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์และส่วนผสมอื่น ๆ ตามสูตร เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาให้ฟางข้าวมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์แก่ พืช ผัก และผลไม้ อีกทั้งให้ดินมีคุณภาพสูงขึ้น นักศึกษากล่าวว่ายังช่วยลดปัญหาทางด้านมลพิษได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา โทร. 0-7431-7100 ต่อ 1915.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162556&NewsType=1&Template=1