จุฬาฯสกัดมะม่วงหิมพานต์ ทำสารตรวจน้ำมันเถื่อนขยายผลเชิงพาณิชย์สำเร็จ
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 51
จุฬาฯสกัดมะม่วงหิมพานต์ ทำสารตรวจน้ำมันเถื่อนขยายผลเชิงพาณิชย์สำเร็จ
มะม่วงหิมพานต์ ภาษาถิ่นทางภาคใต้เรียกว่า กาหยู เม็ดท้ายล่อ หัวครก สำหรับกาหยูนั้นเป็นคำเรียกมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า Cashew (คะฌู) ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่นที่สำคัญของจังหวัดระนองสามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ ดิน ฟ้า อากาศของจังหวัดระนอง ปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ ทนแล้ง โรคแมลงศัตรูมีน้อยมาก ผลผลิตในปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ข้อดีของมะม่วงหิมพานต์ คือ ทุกส่วนของต้น ผลผลิตสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
และล่าสุดทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จคิดค้น สารทำเครื่องหมายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับตรวจสอบน้ำมันเจือปนจากเปลือกมะม่วงหิมพานต์ มาเป็นวัตถุดิบทดแทนสารที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้
ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ รศ. ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า สารทำเครื่องหมายน้ำมันเชื้อเพลิง (Marker) จากน้ำมันเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ นั้นเป็นผลงานการค้นคว้าวิจัย สำหรับทดแทนการนำเข้าสารทำเครื่องหมายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันที่ไม่เสียภาษี การใช้น้ำมันผิดวัตถุประสงค์และการเจือปนของน้ำมัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีในอัตราที่กำหนด จึงจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการบ่งชี้ ติดตามตรวจสอบการแยกประเภทและความแตกต่างของน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน ตลอดจนดูแลให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำมันที่มีคุณภาพ
สำหรับสารที่ทำเครื่องหมายที่ผลิตในไทยนี้ จากการวิจัยทดลองพบว่าน้ำมันเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบภายในประเทศเมื่อนำมาพัฒนาผ่านกระบวนการทางเคมีจะทำให้ได้สารทำเครื่องหมายในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เกิดสีในสภาวะปกติ แต่จะมีสีที่เด่นชัดและเสถียรเมื่อเติมสารละลายที่เหมาะสมจึงเกิดความแม่นยำในขั้นตอนของการวิเคราะห์ เพื่อหาปริมาณของสารทำเครื่องหมายด้วยวิธีการทางสเปโตรสโกปี
ทั้งนี้เนื่องจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะมีแอนาคาร์ดิกแอซิค เป็นองค์ประกอบหลัก มาทำการเปลี่ยนให้เป็นอนุพันธ์เอสเทอร์โดยใช้ 1-เฮกซานอล เพื่อลดความเป็นกรดของหมู่คาร์บอกซิลิกในสารตั้งต้น และเพิ่มความสามารถในการละลายในสารไฮโดรคาร์บอน อนุพันธ์เอสเทอร์ที่ได้เตรียมเป็นสารประกอบเอโซดาย โดยทำปฏิกิริยากับ เมทาออร์โท และพาราไนโตรอะนิลีน สารประกอบเอโซดายที่ได้จะให้สีเหลืองเมื่อเติมในน้ำมันเชื้อเพลิง และแสดงคุณสมบัติเป็นสารทำเครื่องหมาย โดยเปลี่ยนสีของสารสกัดเอททิลีนไกลคอลที่เป็นด่างให้เป็นสีเหลืองเมื่อใช้เอโซดายที่เตรียมจากเมทาไนโตร อะนิลีน เป็นสีส้มเมื่อใช้เอโซดายที่เตรียมจากออร์โทไนโตรอะนิลีน หรือสีแดงเมื่อใช้เอโซดายที่เตรียมจากพาราไนโตรอะนิลีน
สารทำเครื่องหมายในกระบวนการบ่งชี้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าที่ราคาแพงทั้งยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบน้ำมันจากโรงกลั่น แม้ว่าจะมีวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ แต่ขบวนการที่มีความซับซ้อนมากเกินไป ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากใช้สารทำเครื่องหมายที่ผลิตเองในประเทศ จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง สามารถตรวจสอบได้ทั่วถึง และที่สำคัญยังสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ของไทยต่อไปในอนาคตด้วย
และปัจจุบันได้มีการลงนามตกลง ในอนุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชน ที่ผลิตเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162555&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น