เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 51
ในยุคที่น้ำมันและแก๊สมีราคาสูงขึ้น จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า อีกทั้งค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ชุมชน และหมู่บ้านต่าง ๆ ต้องปรับตัวในการดำรงชีวิตกันในยามนี้ แต่ที่ชุมชนบ้านด้าย แดนเหนือสุดของสยาม กลับมีความอบอุ่นในการทำมาหากิน โดยสามารถผลิตแก๊สชีวภาพแล้วแบ่งกันใช้ภายในชุมชนในราคาแสนจะถูก แถมสร้างรายได้จากการแปรรูปสู่ไข่เค็ม กลายเป็นของฝากอันเลื่องชื่อจากชุมชนบ้านด้าย
จากแนวคิดในแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่สามารถพลิกวิกฤติจากกลิ่นมูลสุกรของโรงงานเลี้ยงสุกรที่ส่งกลิ่นรบกวนไปทั่วหมูบ้าน นำไปสู่โอกาสในการคิดค้น โครงการแก๊สชีวภาพเอสเอ็มแอล ที่ชุมชนบ้านด้าย จ.เชียงราย ได้นำงบประมาณจำนวน 200,000 บาท จาก โครงการ SML มาพัฒนาเป็นโครงการแก๊สชีวภาพ SML และเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาผ่านกรรมวิธีตามธรรมชาติ จนพัฒนาไปสู่แก๊สชีวภาพของชุมชนชาวบ้านด้ายได้มีแก๊สสำหรับหุงหาอาหาร และรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพสร้างรายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แก๊สชีวภาพ SML ของชาวบ้านด้าย จ.เชียงราย ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเลี้ยงสุกร เพราะแก๊สที่จะนำมาใช้ มาจากการนำมูลของสุกรมาเทรวมกันในบ่อพักเพื่อทำการหมัก โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มมีแก๊ส และบริเวณบ่อพักมูลสุกรก็จะมีการเชื่อมต่อท่อพีวีซีเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อแก๊สไปยังบ้านแต่ละหลังคาเรือนได้ใช้ในการหุงหาอาหาร ซึ่งสามารถช่วยให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อแก๊สหุงต้มมาใช้ในแต่ละเดือนได้เป็นจำนวนมาก
จากการที่ชุมชนบ้านด้ายนำเงินของ โครงการ SML มาทำแก๊สชีวภาพ ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นมาทันที โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของชาวบ้านในชุมชนที่เคยได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการซื้อแก๊สมาหุงข้าวทำอาหาร จากที่เคยต้องเสียค่าแก๊สเดือนละกว่า 300 บาท พอมีแก๊สชีวภาพในชุมชนชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายแก๊สเพียงเดือนละ 50 บาทต่อหลังคาเรือนเท่านั้น จากจำนวนกว่าร้อยหลังคาเรือนในหมู่บ้าน ตอนนี้ชาวบ้านด้ายก็มีแก๊สชีวภาพใช้ได้แล้วมากถึง 60 หลังคาเรือนทีเดียว
นายฉลอง รินนายรักษ์ ประธานโครงการแก๊สชีวภาพ SML กล่าวว่า แก๊สชีวภาพ SML สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านด้าย ในการช่วยลดรายจ่ายได้มาก เพราะนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ชาวบ้านยังสามารถรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพเพื่อมีรายได้เสริมหลังจากการทำนา และที่สำคัญยังสามารถสร้างความสามัคคีให้กับทุกคนในชุมชน ในการช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโรงเลี้ยงหมู และชาวบ้านจากปัญหาที่เกิดจากกลิ่นได้อย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากเจ้าของโรงเลี้ยงหมูจะสามารถเป็นอีกแรงสำคัญในการช่วยชาวบ้านแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านเกิดทัศนคติที่ดีกับโรงเลี้ยงหมูอีกด้วย และในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเราก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาโครงการต่อเนื่องและให้ชาวชุมชนบ้านด้ายเสียเงินค่าแก๊สเพียงแค่วันละบาทให้ได้
อีกผลผลิต ที่เกิดจากแก๊สชีวภาพ SML ที่นอกจากจะลดรายได้จากการซื้อแก๊สหุงต้มของชาวบ้านแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เสริมจากการทำ “ไข่เค็ม” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อของชาวบ้านด้าย จ.เชียงราย เนื่องจากชาวบ้านนิยมเลี้ยงเป็ดกันมาก ทำให้หาวัตถุดิบได้ง่าย โดย นางตุมมา ทายะนา ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปอาหารเล่าว่าในการทำไข่เค็ม แก๊ส ถือเป็นส่วนสำคัญในการนึ่งไข่ แต่พอมีแก๊สชีวภาพเข้ามาก็สามารถช่วยลดรายจ่าย ให้กับพวกเราได้มาก จากที่เมื่อก่อนต้องเสียเงินซื้อแก๊สถังละ 320 บาท ใช้ได้แค่ 4 วัน แต่พอมีแก๊สชีวภาพก็จ่ายเพียงเดือนละ 50 บาททำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงมาก
สำหรับกลุ่มไข่เค็มของชุมชนบ้านด้ายนั้นมีการรวมกลุ่มกันวันละประมาณ 3 ชั่วโมง จำนวน 4-5 คน ก็สามารถทำไข่เค็มได้วันละ 1,200 ฟอง เดือนนึงก็จะสามารถทำไข่เค็มได้ประมาณ 30,000 ฟอง และเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะนำมาขายให้ชาวบ้านในราคาถูก และก็จะมีแม่ค้าจากจังหวัดใกล้เคียงมารับไปขายด้วย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มไข่เค็มได้เป็นอย่างดี
สำหรับในปี 2551 นี้ ชาวบ้านในชุมชนบ้านด้ายก็ได้ร่วมกันทำประชาคมเพื่อคัดเลือก คณะกรรมการและเสนอโครงการ “แก๊สชีวภาพ SML” เพื่อขออนุมัติงบประมาณในโครงการ SML นำเงินมาต่อยอดขยายโครงการ “แก๊สชีวภาพ SML” ให้สามารถเพิ่มผลผลิตแจกจ่ายได้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน รวมทั้งกระจายสู่ชุมชนโดยรอบอีกด้วย...นับเป็นชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอีกชุมชนหนึ่ง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162921&NewsType=1&Template=1