ปลูกมันสำปะหลังอย่างไร จึงจะได้ผลผลิตสูงสุด
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 51
ปลูกมันสำปะหลังอย่างไร จึงจะได้ผลผลิตสูงสุด
ราคามันสำปะหลังสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังกันมากขึ้น และเพื่อป้องกันมิให้มีการหักร้างถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูกมันสำปะหลัง ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง จึงได้แนะนำ หลักในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ดังนี้
1. การปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการผลิตมันสำปะหลัง หลักสำคัญก็คือการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินเป็นการสร้างให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดีและการเพิ่มธาตุอาหารหลักให้กับดิน ได้แก่ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์หรือเปลือกมันจากโรงงานแป้งหรือปุ๋ยพืชสดจากปอเทืองและถั่วพร้าปลูกแล้วไถกลบ ในกรณีที่ดินถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดชั้นดินดานใต้ดิน ทำให้ระบายน้ำลงใต้ดินได้ยากในฤดูฝน เกิดปัญหาหัวเน่าจากน้ำท่วมขัง ในช่วงฤดูแล้งมันสำปะหลังไม่สามารถใช้น้ำใต้ดินได้ ทำให้เกิดการชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น ควรไถระเบิดชั้นดินดาน หรือ ใช้หญ้าแฝกปลูกประมาณ 1-2 ปี เพราะหญ้าแฝกมีระบบรากลึกถึง 3 เมตร สามารถทำลายชั้นดินดานได้ อีกทั้งเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดินด้วย
2. การเลือกฤดูปลูก หลักสำคัญก็คือควรจัดวันปลูกเพื่อให้ช่วงอายุ 3-12 เดือนของมันสำปะหลังได้รับน้ำฝนมากที่สุด เพราะผลผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในช่วงอายุดังกล่าว โดยในช่วงแรกระยะตั้งแต่ 1-3 เดือนหลังปลูก มันสำปะหลังต้องการน้ำน้อยเพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้ว พบว่า การปลูกมันสำปะหลังแบบอาศัยน้ำฝนจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่อปลูกในช่วงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) รองลงมา คือ ต้นฤดูฝน (เมษายน-พฤษภาคม) และปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) แต่การปลูกในช่วงฤดูร้อนและปลายฤดูฝนมีข้อจำกัดของปริมาณน้ำฝนค่อนข้างน้อย มีผลต่อการงอกของท่อนพันธุ์
3. การเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง ดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ดินร่วนเหนียวถือได้ว่าเป็นดินดี ดินชนิดนี้สามารถนำไปปั้นเป็นลูกกระสุนได้ และดินร่วนทรายถือได้ว่าเป็นดินปานกลางถึงเลว ดินชนิดนี้ไม่สามารถนำไปปั้นเป็นลูกกระสุนได้ เนื่องจากดินแตกง่ายไม่เกาะติดกัน โดยดินร่วนเหนียว ควรปลูก พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72 ส่วนดินร่วนทรายควรปลูกพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ห้วยบง 60 และระยอง 9 เนื่องจากทั้ง 4 พันธุ์ เมื่อนำไปปลูกในดินร่วนเหนียวจะเจริญเติบโตในส่วนของ ลำต้นที่อยู่เหนือดินมากกว่าลงหัว หรือที่ชาวบ้าน เรียกกันว่าขึ้นต้นหรือบ้าต้นเกินไป ส่วนพันธุ์ระยอง 7 นั้นเหมาะทั้งดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นของดินดีตลอดช่วงของการเจริญเติบโต แต่ไม่เหมาะกับสภาพดินที่แห้งแล้ง
4. การเตรียมดินให้ลึก หลักสำคัญก็คือ ต้องไถดะครั้งแรกให้ลึกที่สุดด้วยผาล 3 หรือ ผาล 4 เท่านั้น ควรไถดะในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ ห้ามไถดะด้วยผาล 7 เพราะจะไถได้ไม่ลึกการ ไถดะให้ลึกจะเพิ่มความสามารถในการเก็บกักความชื้นของดินได้มากขึ้นและมันสำปะหลัง ลงหัวได้ง่าย จากนั้น ตากหน้าดินเพื่อให้วัชพืชตาย ถ้าเป็นดินร่วนเหนียวควรไถแปรครั้งที่สองเพื่อย่อยดินด้วยผาล 7 และตามด้วยการยกร่องพร้อมปลูก ส่วนดินร่วนทรายไม่จำเป็นต้องไถแปรครั้งที่สองด้วยผาล 7 สามารถยกร่องพร้อมปลูกได้เลย ในกรณีที่ เกษตรกรสามารถหาปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักได้ควร หว่านก่อนไถดะ ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้ผลดี คือ ปุ๋ยหมักมูลไก่ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ วัสดุอินทรีย์จากกากมันที่เหลือจากโรงงานแป้ง 2 ตันต่อไร่
5. การปลูกที่ถูกต้อง หลักสำคัญก็คือ ต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรมีอายุ 10-12 เดือน จะให้ความงอกดีที่สุด โดยเลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง มีตาถี่ ขนาดโตพอสมควร ต้องตัดท่อนปลูกด้วยมีดที่คม เพื่อมิให้ท่อนปลูกช้ำ ยาวไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ปลูกปักตรงให้ลึก 2 ใน 3 ของความยาวท่อนปลูก ในดินร่วนเหนียว ควรใช้ระยะแถวกว้าง 1.20 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-1.00 เมตร และในดินร่วนทราย ควรใช้ระยะแถวแคบ 0.80 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-0.80 เมตร
6. การกำจัดวัชพืช หลักสำคัญก็คือ มันสำปะหลังใช้เวลาประมาณ 3 เดือนหลังจากปลูก เพื่อสร้างพุ่มใบให้คลุมพื้นที่ระหว่างร่องทั้งหมด ดังนั้น ภายในช่วง 3 เดือนแรกถือว่าเป็นช่วงวิกฤติของมันสำปะหลัง ต้องดูแลรักษาให้มันสำปะหลังปลอดวัชพืช ถ้าปล่อยให้วัชพืชแข่งขันกับมันสำปะหลัง มันสำปะหลังจะแคระแกร็น มีผลให้ผลผลิตลดลงมาก การกำจัดวัชพืชสามารถเลือกทำแบบผสมผสาน โดยใช้จอบถาง รถไถเดินตามแถก ระหว่างร่อง ใช้สารเคมีประเภทคลุมก่อนวัชพืชงอกหรือสารเคมีฆ่าหลังวัชพืชงอก สารเคมีประเภทคลุมใช้ได้ผลเฉพาะการปลูกต้นฤดูฝนเท่านั้น ห้ามใช้ไกลโฟเสทในขณะที่มันสำปะหลังต้นเล็กอยู่ เพราะมีผลทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
7. การใส่ปุ๋ยเคมี ควรเลือกใช้ปุ๋ยเคมีอัตราส่วน 2 : 1 : 2 ปุ๋ยเคมีที่แนะนำ คือ 15-7-18 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ปุ๋ย 2 ข้างลำต้นรัศมีพุ่มใบแล้วกลบ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 เดือนหลังจากปลูก และต้องใส่ปุ๋ยเคมีในขณะที่ดินมีความชื้นและต้องกลบปุ๋ยด้วย ถ้าไม่กลบปุ๋ยอาจสูญเสียปุ๋ยมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการเก็บเกี่ยวควรเลือกเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงที่เหมาะสมตั้งแต่อายุ 10-18 เดือน ควรงดเว้นการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังในช่วงฝนแรก คือ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังแตกใบอ่อน จะให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ
8. การให้น้ำมันสำปะหลัง ควรให้น้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อจะช่วยให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือทำให้ใบร่วงน้อยที่สุด มีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ละเดือนอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น การปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ต้องปลูกในช่วงต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน มีการให้น้ำในช่วง สองเดือนแรกของการเจริญเติบโตตามความจำเป็น และให้น้ำเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว
รายละเอียดสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-0603 และ 0-2940-5492 และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง 0-3868-1515 ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=162916&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น