เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 51
บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตาทวด....ได้นำเอา “พืชสมุนไพรไทย” ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันตั้งแต่อาหารจนถึงยารักษาโรค... เมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี สารสังเคราะห์จึงมามีบทบาท
กระทั่งกลุ่มผู้ “รักษ์สุขภาพ” ตื่นตัวพยายามหนีห่างจากสารเคมี หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ความใจส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร ปรับปรุงขบวนการผลิต ยกระดับสู่สากล
เภสัชกร สมนึก สุชัยธนาวนิช หัวหน้า ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร (Traditio-nal Thai Medicine Development Center) หรือศูนย์ TDC ภายใต้สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนา การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า
ศูนย์ทำหน้าที่ดูแล กระบวนการผลิต ตั้งแต่ ปลูก คัดเลือก จัดเก็บ โดยพืชสมุนไพรที่ผ่านระบบจะได้มาตร-ฐานตราสัญลักษณ์ TDC อันเป็นที่ยอมรับของสากล
และ...ได้จัดทำ โครงการบูรณาการสร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทย และ สมุนไพร ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี โดยปลูก ฟ้าทะลายโจร โหระพา ตะไคร้บ้าน บัวบก บัวหลวง กระเจี๊ยบแดง แฝกหอม กะเพราแดง ขมิ้นชัน มะแว้งเครือ สบู่ดำ ว่านน้ำ ทองพันชั่ง ข่า ในลักษณะ เกษตรอินทรีย์
โดยมีบริษัทเอกชนนำเครื่อง Vacuum Freeze Dry มาทำแห้งเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้คงสภาพความสดทั้งกลิ่น รส อีกทั้ง พัฒนาการบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย ทำให้ตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา สนใจมากยิ่งขึ้น
นางเสงี่ยม ไม้แป้น เกษตรกรดีเด่น กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เล่าให้ฟังว่า...เดิมทำสวนกล้วยหอม เจอปัญหาด้านราคา จึงปรับเปลี่ยนมาปลูก ไมยราบ ใบหม่อน เตยหอม ทองพันชั่ง ดอกคำฝอย แปรรูปเป็น “ชาสมุนไพรตราแม่บ้าน”
เพื่อนบ้านเห็นจึงปลูกตาม... ศูนย์ TDC เข้ามาส่งเสริมแนะนำ พร้อมสร้างโรงตาก พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีคุณภาพ ขยายตลาดได้กว้างขึ้น
นางสงัด พรมเมศ หัวหน้า กลุ่มอาชีพสมุนไพรรำมะสัก ตำบลรำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เล่าว่า...ตำบลรำมะสักเป็นแหล่งที่มีการปลูกข่ามากที่สุด รวมทั้งสมุนไพรเช่น ไมยราบ ว่านหางจระเข้ เสลดพังพอน ใบส้มป่อย ขิง แล้วแปรรูปเป็นแชมพู ครีมอาบน้ำ สบู่ สมุนไพรขัดตัว ยาสีฟัน และลูกประคบ...ศูนย์ TDC จึงมาอบรมให้ความรู้ในกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เฉพาะลูกประคบมีรายได้เข้ากลุ่มเดือนละ 1.5 ล้านบาท จึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า....วัตถุดิบคือปัจจัยสิ่งสำคัญ หากมีการดูแลจัดการอย่างมีคุณภาพ ย่อมทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ....สามารถขายได้ชัวร์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 7 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=88795