เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 51
นายทรงศักดิ์ วงษ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ผู้ปลูกลำไยได้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อผลิตลำไยนอกฤดู ซึ่งปริมาณการใช้สารชนิดดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการสำรวจเกษตรกรบางส่วนใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเกิน 1 เท่าของอัตรา เนื่องจากมีความเชื่อว่าการให้สารในอัตราสูงจะทำให้ลำไยออกดอกได้ดี แต่ผลที่ได้กลับพบว่าการใช้สารในอัตราสูงกว่าคำแนะนำมีผลทำให้การออกดอกลดลง 30-40% และเกิดมีสารเคมีตกค้างในดินด้วย หากใช้ปริมาณมากติดต่อกันหลายปี จะทำให้ต้นลำไยมีปัญหา เช่น ต้นทรุดโทรมเร็ว หรือเกิดอาการใบเหลืองแล้วแห้งตาย
“เพื่อให้การชักนำลำไยออกดอกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกษตรกรควรใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต อย่างมีขอบเขตและต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยใช้สารดังกล่าวในสวนลำไยที่ต้นสมบูรณ์ และอยู่ในระยะใบแก่ หรือมีอายุใบประมาณ 25-40 วัน ก่อนราดสารต้องทำความสะอาดบริเวณทรงพุ่ม โดยกำจัดวัชพืช ใบแห้งและวัสดุคลุมดินออกจากทรงพุ่ม เพื่อให้การดูดซึมสารโพแทสเซียมคลอเรตดีขึ้น หากดินชุ่มมากเกินไปต้องระบายน้ำออกและปล่อยให้ดินแห้งพอควร” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=88934