เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 51
งานวิจัยหนึ่งที่สำคัญมากเพราะว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำธุรกิจ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการตลาดและการขายผลิตภัณฑ์ ดังนั้น สกว.จึงได้ให้ทุนวิจัยกับ ผศ.นงนุช อังยุรีกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อศึกษาเรื่อง การตลาดปูนิ่มเพื่อการขยายโอกาสการส่งออกปูนิ่ม
โดยการวิจัยครั้งนี้ ครอบคลุมไปถึงแหล่งเลี้ยงทั้งในประเทศและคู่แข่งต่างประเทศ รวมไปถึงการจัดการไม่ว่าจะเป็นการจัดหาพันธุ์และการจัดการเรื่องอาหาร มูลค่าการลงทุน และต้นทุนการผลิตต่างๆ และผลตอบแทนจากการเลี้ยง มีการวิเคราะห์การตลาดและวิเคราะห์ความคุ้มค่าและความเสี่ยง รวมทั้งข้อควรระวังในการทำธุรกิจด้านนี้
ผมขอเล่าให้ฟังแบบคร่าวๆ ว่าได้ผลอะไรบ้าง เริ่มแรก คือ การเลี้ยงปูนิ่มในเมืองไทย เริ่มมาเมื่อปี 2530 เริ่มจากการเลี้ยงปูดำ กระทั่งผ่านไปอีก 10 ปี จึงขยายจำนวนขึ้นมากลายเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยมีการเลี้ยงในตะกร้ามากกว่า 2 ล้านตะกร้า ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิตปูนิ่มอันดับหนึ่งของตลาดโลก แหล่งเลี้ยงสำคัญอยู่ที่ จ.ระนอง และยังมีที่จังหวัดอื่นอีกบ้าง เช่น จันทบุรี ตราด และสตูล ส่วนในต่างประเทศก็มีพม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย ซึ่งถ้ามองโดยรวมแล้ว การเลี้ยงของเมืองไทยค่อนข้างก้าวหน้าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ยกเว้นออสเตรเลีย
ในการทำธุรกิจปูนิ่มในเมืองไทย เราไม่ได้เลี้ยงปูตั้งแต่เล็กจนกระทั่งโตได้ขนาด แต่จะใช้วิธีหาปูที่ได้ขนาดแล้ว โดยจับมาจากทะเลตามธรรมชาติ นำมาขังไว้ในกรงขนาดเล็ก กรงละตัว และปล่อยให้ลอกคราบเองตามธรรมชาติ พอลอกคราบแล้วก็จับขึ้นมาจำหน่ายต่อไป ปัจจุบันปูที่จับได้ตามธรรมชาติของเมืองไทยลดน้อยลงไปมาก จนต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น พม่า ซึ่งผ่านเข้ามาทางด่านระนองและด่านแม่สอดเป็นหลัก
ถ้าใครคิดจะลงทุนเลี้ยงปูนิ่มก็มีการประเมินการลงทุนไว้ว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างบ่อเลี้ยง โรงเก็บอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์การเลี้ยง เช่น กล่องเลี้ยงและอื่นๆ จะตกเฉลี่ยฟาร์มละประมาณ 1.7 ล้านบาท สำหรับการเลี้ยงปูประมาณ 4 หมื่นกว่าตัว ค่าใช้จ่ายหลักอยู่ที่กรงเลี้ยงปูที่เหมือนกับกล่อง ทำด้วยพลาสติก ซึ่งคิดแล้วเป็นต้นทุนประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และเมื่อเฉลี่ยแล้วต้นทุนในการผลิตปูนิ่มจะตกประมาณ 130 บาทต่อปูนิ่ม 1 กิโลกรัม ซึ่งมีราคาขายเฉลี่ยประมาณ 200 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ดูแล้วก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจพอควร ซึ่งในรายงานการวิจัยฉบับนี้ยังมีรายละเอียดต่างๆ อีกมาก จนไม่สามารถนำมาเล่าได้หมดในบทความเดียวได้ จึงได้สกัดเฉพาะเนื้อหาที่น่าสนใจมาถ่ายทอดให้ได้รับทราบกันเพียงบางส่วน
รายงานการวิจัยฉบับเต็มของเรื่องนี้ ถ้าใครอยากอ่านก็หาอ่านได้จากห้องสมุดของ สกว. และมีข่าวดี คือ ตอนนี้ สกว.ได้จัดทำห้องสมุดแบบใหม่ โดยเก็บรายงานการวิจัยทั้งหมดอยู่ในรูปดิจิทัล และเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้ผ่านทางเว็บไซต์ http://elibrary.trf.or.th โดยไม่คิดเงิน ที่สำคัญ คือ ไม่ต้องเดินทางมาที่ สกว. หรือทำจดหมายขอมาเหมือนแต่ก่อนครับที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 12 พฤษภาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/05/12/x_agi_b001_201872.php?news_id=201872