เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 51
กฤษณา....เป็นไม้ ยืนต้นที่มีการปลูกกันแพร่ หลายแทบทุกภาคในบ้านเรา ด้วยราคาของน้ำมันหอม ระเหยที่สกัดจากต้นกฤษณา มีราคาแพงมาก...จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหัน มาปลูกกันโดยคาดหวังในผลผลิตและผลประโยชน์...
ด้วยเหตุผลนี้... รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์ อาจารย์ ศลิษา สุวรรณภักดิ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมวิจัย จึงทำการศึกษาวิจัยการใช้เชื้อราและสารอินทรีย์กับต้นกฤษณา เพื่อนำผลิตสารหอมระเหยได้ในปริมาณมากๆ
หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า ปัญหาของการปลูกไม้กฤษณาในแปลงทั่วๆไปคือ การสกัดสารหอมระเหยได้น้อยนิด หรืออาจไม่ได้ผลิตภัณฑ์เลย จึงแทบจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ทั้งนี้ เนื่องจากไม้กฤษณาที่จะให้สารหอมได้เมื่อต้นของมันเกิดแผล
ที่ผ่านมาเกษตรกรโดยทั่วไปจึงทดลองเจาะรูต้นกฤษณาประมาณ 1,000-2,000 รูต่อต้น เพื่อให้มันเกิดแผล ก็ยังให้ปริมาณน้อย และยังสร้างความสูญเสียคือส่งผลให้ต้นกฤษณาตายในระยะเวลาอันสั้น
ทีมวิจัยจึงได้ทำการทดลองด้วยการใช้สว่านเจาะเพียง 20-40 รู แล้วฉีดเชื้อราและสารอินทรีย์ที่ปลอดภัยเข้าไปในต้นกฤษณา ผลออกมาพบว่ากฤษณาทุกต้นสามารถสร้างสารหอมได้ หลังจากใส่เชื้อราและสารอินทรีย์ฯภายใน 1 เดือน จะเพิ่มมากขึ้นจนถึง 4-6 เดือน
บริเวณรูได้สร้างสารหอมในเยื่อไม้ของต้นกฤษณาออกเป็นวงรัศมีกว้าง 15-20 เซนติเมตร แล้วยังพบอีกว่า ไม้กฤษณายังสามารถสร้างสารหอมตามธรรมชาติต่อได้โดยไม่ต้องกระตุ้นอีกและไม้กฤษณาที่ผลิตสารหอมได้ดีควรมีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป
หลังจากนำมาสกัดสารหอมระเหยด้วยการกลั่น ไอน้ำแบบ Hydrodistilation แล้ววิเคราะห์สารหอมด้วยวิธี Gas-Chromatography-Mass Spectroscopy (GC-MS) พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากงานวิจัยนี้ มีองค์ประกอบทางเคมีเทียบเท่ากับน้ำหอมกฤษณาเกรด A ในตลาดทั่วไป
เกษตรกรและผู้สนใจวิธีการกระตุ้นไม้กฤษณาให้เกิดสารหอม ติดต่อ รศ. ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ 0-2942-5444 ต่อ 2139 หรือ 08-9828-7987 เวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 12 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=89415