เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 51
การทำให้ผลผลิต" ลำไยนอกฤดู" มีคุณภาพสูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้หันมาผลิตลำไยนอกฤดูแพร่หลายมากขึ้น
ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกประมาณ 80,000-100,000 ไร่ กระจายอยู่ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำพูน และ จ.พะเยา รวมทั้งภาคตะวันออก เช่น จ.จันทบุรี เป็นต้น โดยลำไยนอกฤดูจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี
"หลังการชักนำให้ลำไยออกดอกและติดผล ถือเป็นช่วงสำคัญที่เกษตรกรควรใส่ใจ ถ้าบำรุงต้นลำไยดีก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยภายหลังราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอกของต้นลำไยแล้ว ควรหมั่นดูแลบำรุงรักษาต้นลำไยในสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการให้น้ำและปุ๋ยเคมี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพผลผลิต" ทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องลำไยให้คำแนะนำพร้อมย้ำว่า
ส่วนปริมาณการให้น้ำอาจคำนวณการใช้น้ำของลำไยแต่ละต้นต่อวัน โดยคำนวณจากพื้นที่ทรงพุ่มคูณกับค่าการใช้น้ำจริงต่อวัน เช่น ต้นลำไยขนาดทรงพุ่ม 3 เมตร ในเดือนพฤษภาคม ควรใช้น้ำ 42 ลิตรต่อวัน เป็นต้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน สภาพภูมิอากาศ วิธีการให้น้ำและระยะการเจริญเติบโตของพืชด้วย
การให้ปุ๋ยเคมีนั้น เกษตรกรควรส่งตัวอย่างดินในสวนลำไยไปวิเคราะห์คุณภาพดินก่อน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่แล้วในดินเพื่อที่จะได้ปรับปรุงดินก่อนใส่ปุ๋ย จะส่งผลให้ลำไยใช้ปุ๋ยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้อาจมีการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบลำไยร่วมด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการให้ปุ๋ยในฤดูผลิตปีถัดไป
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรให้รายละเอียดถึงวิธีการใช้ปุ๋ยว่าสำหรับอัตราการให้ปุ๋ยเคมีแก่ต้นลำไยขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตต่อต้น เช่น ถ้าลำไยติดผลมากก็ใส่มาก หากติดผลน้อยก็ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง เช่น ต้นที่คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 จำนวน 900 กรัมต่อต้น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 960 กรัมต่อต้น และปุ๋ยสูตร 0-0-60 จำนวน 880 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้งในปริมาณเท่าๆ กัน ทั้งนี้ลำไยแต่ละสวนอาจตอบสนองต่อปุ๋ยที่ให้แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของดินและฝีมือการจัดการสวน
การปรับปรุงคุณภาพผลลำไย ทรงศักดิ์ย้ำว่าถือเป็นเรื่องสำคัญ หากลำไยติดผลดกมากกว่า 80 ผลต่อช่อ โอกาสที่จะได้ผลผลิตด้อยคุณภาพก็มีค่อนข้างสูง เนื่องจากธาตุอาหารที่ส่งไปหล่อเลี้ยงผลอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรตัดช่อผลให้เหลือไม่เกิน 50 ผลต่อช่อ โดยพิจารณาความสมบูรณ์ของต้นการตัดช่อผลควรตัดเมื่อมีผลขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเขียว โดยใช้กรรไกรตัดตรงกลางช่อผล
"เกษตรกรยังสามารถปรับปรุงสีผิวผลลำไย โดยการห่อช่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หนาประมาณ 2 ชั้น ซึ่งก่อนห่อช่อผลควรทำการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อน โดยต้องห่อช่อผลเมื่อเมล็ดลำไยเริ่มเปลี่ยนสี หรือห่อไว้ประมาณ 8 สัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว จะช่วยให้ได้ผลผลิตลำไยที่มีคุณภาพดี ผิวเปลือกมีสีเหลืองสวย เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภค" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลำไยแนะนำ พร้อมย้ำถึงวิธีการปัญหาการระบาดของโรคและแมลงว่า
จะพบมากในช่วงลำไยติดผล ศัตรูพืชที่สำคัญได้แก่ เพลี้ยไฟ และไรสี่ขา ถ้าระบาดอย่างรุนแรงควรพ่นสารเมทโธเอท ทั้งนี้ ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงในช่วงดอกบาน เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสร สำหรับช่วงติดผลให้ระมัดระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ควรดูแลตั้งแต่ผลขนาดเล็ก โดยใช้น้ำมันปิโตรเลียมหรือไวท์ออยล์ฉีดพ่น จะสามารถช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 13 พฤษภาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/05/13/x_agi_b001_202204.php?news_id=202204