'ดอยเต่า' ปลูกลำไยนอกฤดูทำเงินสะพัด
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 51
'ดอยเต่า' ปลูกลำไยนอกฤดูทำเงินสะพัด
กว่า 18 ปีที่ จ.ส.อ.อุดม รังสรรค์ หรือ “จ่าดม” ได้เก็บเกี่ยวความรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการปลูกลำไยจนสามารถผลิต “ลำไยนอกฤดู” คุณภาพดีป้อนตลาดสำเร็จ
จ่าดมเล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกลำไยมาตั้งแต่ปี 2533 โดยช่วงแรกผลิตลำไยในฤดูเป็นอาชีพเสริมรายได้ แต่ไม่คุ้มค่าการลงทุนเนื่องจากประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ เพราะมีลำไยสดช่อออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากโดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ต้องดิ้นรนต่อสู้และแบกรับภาระปัญหาดังกล่าว ปี 2543 จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นลำไยนอกฤดูเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดและราคา ทำให้มีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น และตลาดก็มีความต้องการสูง
ปัจจุบันได้ลาออกจากราชการทหารเพื่อให้เวลาดูแลจัดการสวนลำไยนอกฤดู จำนวน 70 ไร่อย่างเต็มที่ ในสวนมีลำไยหลายช่วงอายุตั้งแต่ 12-18 ปี อัตราการปลูกไร่ละ 20 ต้น ระยะห่างระหว่างต้น 8x8 เมตร ซึ่งได้ใช้เทคนิคตัดแต่งกิ่งทรงฝาชีหงาย 2 ชั้นและทรงเปิดกลางทรงพุ่ม เพื่อลดขนาดทรงพุ่มให้เตี้ยลงเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไม้ค้ำยันกิ่ง และยังประหยัดต้นทุนค่าแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะเดียวกันยังลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น โรคราดำ โรคจุดสาหร่ายสนิม และเพลี้ยหอย
การวางแผนการผลิตลำไยนอกฤดูให้ตรงช่วงที่ตลาดต้องการ เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อราคาจำหน่าย ซึ่งสวนจะกำหนดช่วงเวลาการบังคับการออกดอกและการเก็บเกี่ยวให้ชัดเจน โดยแบ่งพื้นที่ผลิตลำไยนอกฤดู เป็น 3 รุ่น รุ่นละประมาณ 20-25 ไร่ รุ่นแรก จะราดสารโพแทสเซียมคลอเรต ประมาณเดือนพฤษภาคม เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม-มกราคม รุ่นที่ 2 ราดสารโพแทสเซียมคลอเรตช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนตลาดช่วงเทศกาลตรุษจีน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จะทำให้ได้ราคาดี ส่วน รุ่นที่ 3 ราดสารโพแทสเซียมคลอเรตช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนตลาดได้ในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ราวปลายเดือนมีนาคม-เมษายน
การชักนำการออกดอกด้วยสารโพแทสเซียมคลอเรต รวมทั้งการจัดการธาตุอาหารในดินภายในสวนและการใช้ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้น เน้นยึดหลักวิชาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการ คือ ผศ.พาวิน มะโนชัย ผอ.สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ม.แม่โจ้ ซึ่งได้ผลดีมาก ตั้งแต่การออกดอกและติดผลดี ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ขนาดผลใหญ่ ทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
จ่าดมบอกว่า ขณะนี้สวนได้มีการปรับลดต้นทุนลงโดย ใช้เทคนิคตัดแต่งกิ่ง ควบคุมทรงพุ่มให้เตี้ย เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าแรงงานเก็บผลผลิตได้ค่อนข้างมาก นอกจากนั้นยังเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ที่ ม.แม่โจ้ พอผลออกมาแล้วใช้เทคนิคใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันยังหมั่นตรวจสอบแปลงและต้นลำไยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสำรวจโรคและแมลงศัตรูพืชที่อาจเข้าทำลายต้นลำไยโดยเฉพาะช่วงให้ผลผลิต สวนจะไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชหากไม่จำเป็น ถ้าตรวจพบว่า โรคหรือแมลงศัตรูพืชมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดจึงใช้สารเคมี สำหรับปี 2550 ที่ผ่านมา หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เหลือกว่า 950,000 บาท ถือว่าได้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่าต่อการลงทุน
ในฐานะที่ จ่าดม เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ในการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ จนได้รับการยอมรับให้เป็น ประธานสหกรณ์พัฒนาการผลิตลำไยคุณภาพดอยเต่า จำกัด ทั้งยังพ่วงตำแหน่ง ประธานชมรมพัฒนาการผลิตลำไยคุณภาพดอยเต่า ด้วย
ที่ดอยเต่าแห่งนี้มีพื้นที่ปลูกลำไยนอกฤดูรวมกว่า 10,000 ไร่ ถือเป็นอาชีพที่สร้างสีสันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ดอยเต่าให้คึกคักขึ้นมาได้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดปีละไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากใครมีโอกาสผ่านไปที่นี่สามารถแวะทักทาย “ลุงจ่าดม” ได้ที่ 16 หมู่ 2 ตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 08-1980-5017 โดยเฉพาะผู้ปลูกลำไยอาจได้เทคนิคดี ๆ กลับบ้าน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=163646&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น