3 องค์กรจับมือพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำ ลุ่มเจ้าพระยา-ท่าจีน
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 51
3 องค์กรจับมือพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำ ลุ่มเจ้าพระยา-ท่าจีน
กรมชลประทานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา-ท่าจีน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาแบบจำลองในการพยากรณ์น้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งกระบวนการในการนำเสนอผลการพยากรณ์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยจะเป็นระบบที่ช่วยเสริมความสามารถของระบบคาดการณ์และพยากรณ์น้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่เดิม ซึ่งไม่สามารถพยากรณ์น้ำท่วมในลักษณะการท่วมแผ่ในพื้นที่ (Flood plain forecasting) ได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจะพบว่าพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่สองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีนเป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่เหมาะสมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการในการพัฒนา และบริหารจัดการน้ำอย่างเชื่อมโยง ทั้งในส่วนของอาคารควบคุมและระบบการพยากรณ์น้ำ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำสูงมาเป็นตัวช่วยที่สำคัญ
สำหรับการศึกษาโครงการพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนกรมชลประทานเน้นการเปิดโอกาสให้ประชาชน องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ตลอดระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึง สิงหาคม 2551 โดยผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ได้จากโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาท่าจีนในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป
และล่าสุดในความคืบหน้าของโครงการนี้ทางคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบ และมีมติเห็นชอบในหลักการนำเสนอและได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนแผนงาน โครงการในปีงบประมาณ 2551 ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนเป็น อันดับแรกเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทำการเกษตรและในปีที่ผ่านมาดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ประชาชนขาดที่ทำกิน ซึ่งในแผนการฯ ได้กำหนดกิจกรรมหลักเพื่อบรรเทาสถานการณ์อุทกภัย ออกเป็น 3 กิจกรรม
ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 การป้องกันชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก เพื่อลดความเสียหายใน 7 เมืองหลัก 7 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สมุทรสาคร เพื่อการลดความเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 6,140 ล้านบาท ในกิจกรรมที่ 2 คือการระบายน้ำ และการผันน้ำ โดยมุ่งหวังให้มีการลดปริมาณน้ำหลากสูงสุดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างผลคาดการณ์ในระยะแรกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และกิจกรรมที่ 3 เน้นการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่แก้มลิง เพื่อลดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 0.69 ล้านไร่ และลุ่มน้ำท่าจีน ประมาณ 0.11 ล้านไร่ รวมทั้ง 2 ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ 0.80 ล้านไร่
ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการในหลาย ๆ โครงการของกรมชลประทานที่น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อโครงการดังกล่าวก้าวมาสู่คำตอบที่ชัดเจนภายใต้แนวคิดจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผลจากการนำมาปฏิบัติของกรมชลประทานก็จะก่อผลประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมากมายมหาศาลทีเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=163993&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น