เมื่อวันที่ 2 มกราคม 51
การพัฒนาวิจัยระบบกรีดยางใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่สถาบันวิจัยยางต้องดำเนินการ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง กรีดได้นานที่สุด 20-25 ปี ทำความเสียหายกับต้นยางน้อยที่สุด และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่กรีดที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวัน หรือระบบกรีดสองวันเว้นวัน
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากที่ราคายางพุ่งสูง 70-80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรเร่งกรีดยางโดยเฉพาะภาคอีสาน ขณะนี้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ระบบกรีดถี่หรือกรีดหักโหม โดยเฉพาะกับสวนยางที่เริ่มเปิดกรีดใหม่จะกรีด 4 วันเว้น 1 วัน และกรีด 3 วันเว้น 1 วัน โดยกรีด 1 ใน 3 ของลำต้น ทำให้ผลผลิตที่ได้ต่อวันลดลง รายได้ต่อวันก็น้อยลงตาม ซึ่งหากกรีดเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นยางเพราะจะทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง อายุการกรีดสั้นลง นอกจากนี้ยังมีผลต่อคุณภาพไม้ยาง ทำให้ขายได้ราคาต่ำ ส่งผลเสียหายต่อรายได้เกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศที่อาจมีขึ้นในอนาคตข้างหน้า
กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบเกษตรกรรม สถาบัน Centre de cooperation internationale en recherch? agronomique pour le developpement ( CIRAD) ประเทศฝรั่งเศส ทดลองการใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด กับยางพันธุ์ RRIM 600 เพื่อหาระบบกรีดใหม่ที่สามารถเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้สูงขึ้นได้ ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยการกรีดสลับหน้าต่างระดับ เป็นวิธีการที่เปิดกรีดหน้ายางทั้ง 2 หน้ากรีด ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น วันเว้นวัน โดยหน้ากรีดแรกเปิดกรีดต่ำที่ระดับ 80 เซนติเมตรจากพื้นดิน หน้ากรีดที่ 2 เปิดกรีดที่รอยกรีดสูงระดับ 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน ซึ่งช่วงระยะห่างระหว่าง 2 รอย กรีด 75-80 เซนติเมตรนี้เองที่ทำให้ต้นยางมีเวลาพักเพื่อสร้างน้ำยางได้ โดยปกติต้นยางจะใช้เวลาในการสร้างน้ำยางประมาณ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน จึงทำให้กระบวนการสร้างน้ำยางเกิดขึ้นสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตสูงขึ้นได้
จากการทดลอง นางพิศมัย จันทุมา นักวิชาการเกษตร 8 ว ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา รายงานว่า ผลผลิตยางหลังจากเปิดกรีดในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก การใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีดสามารถเพิ่มผลผลิตสูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน 24-28% นอกจากนี้จึงได้ทดลองกรีดหลังจากกรีดยาง 7 ปี ก็ยังให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18%
ดังนั้น การใช้ระบบกรีด 2 รอยกรีด เป็นระบบใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าการกรีดวันเว้นวัน 18% และการกรีดวันเว้นวัน ให้ผลผลิตสูงกว่าการกรีดสามวันเว้นวันและกรีดทุกวัน จึงเป็นระบบกรีดที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตและไม่เป็นอันตรายต่อต้นยาง ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย เพราะใช้ถ้วยรองรับน้ำยางใบเดียวกันสลับใช้ เพียงแต่เพิ่มค่าขดลวดแขวนต้นยางเท่านั้น ซึ่งจะได้ทำการทดลองต่อไปในระดับไร่นา เพื่อเป็นการขยายผลและเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=50884&NewsType=2&Template=1