ความเป็นไปได้ในการปลูกกลอยในเชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 51
ความเป็นไปได้ในการปลูกกลอยในเชิงพาณิชย์
"กลอย” จัดเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามไหล่เขาในป่าเบญจพรรณ ป่ารกร้าง ป่าเต็งรังและป่าดงดิบจากการสำรวจพบว่าในป่าประเทศไทยพบกลอยมากกว่า 32 ชนิด พื้นที่พบมากอยู่ในป่าภาคเหนือแต่กลอยที่สามารถนำมาบริโภคได้จะมีอยู่ประมาณ 3 ชนิดเท่านั้นคือ “กลอยเหลือง” (กลอยไข่หรือกลอยข้าวเหนียว) เป็นกลอยที่มีเนื้อสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองเข้ม เมื่อนำมาแปรรูปจะได้เนื้อกลอยที่มีความเหนียวนุ่มและหอม รสชาติอร่อยที่สุด “กลอยขาว” จัดเป็นกลอยที่มีเนื้อสีขาวนวลมีขายในท้องตลาดมากที่สุดและ “กลอยจืด” เป็นกลอยชนิดสุดท้ายที่บริโภคได้แต่ปัจจุบันหาได้ยาก
อ.ชนินทร์ อินหันต์ ครูชำนาญการ คณะวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพชรบูรณ์ ได้ทำการศึกษาเรื่องกลอยและได้ทดลองปลูกในเชิงพาณิชย์จนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง อ.ชนินทร์บอกว่าปัจจุบันปริมาณกลอยที่พบในป่าลดน้อยลงมาก เนื่องจากชาวบ้านจะขุดจากป่ามาขายโดยไม่มีการปลูกทดแทน แม้แต่ในการขุดกลอยของชาวบ้านยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการเหลือส่วนของหัวกลอยที่จะขยายพันธุ์ต่อไปได้ไว้แล้วกลบดินเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นและลงหัวในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะได้ขุดหัวกลอยขึ้นมาใหม่ได้อีก ส่วนใหญ่จะขุดขึ้นมาทั้งหมด ในภาพ รวมของคุณประโยชน์ของกลอยพบว่าในเนื้อกลอยจะมีสาร “ทริปโตเฟน” (Tryptophan) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวที่พบอยู่ในข้าวเหนียวแต่มีปริมาณมากกว่า สารชนิดนี้เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะมีส่วนช่วยให้อารมณ์ดี ลดอาการซึมเศร้าและคลายความเครียดได้ น้ำคั้นจากหัวกลอยสดนำไปฉีดป้องกันและกำจัดศัตรูพืชบางชนิดได้ ปัจจุบัน เริ่มมีเกษตรกรประยุกต์นำหัวกลอยสดมาฝานเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปฆ่าหอยเชอรี่ในนาข้าวได้ นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
อ.ชนินทร์ได้ทำการทดลองปลูกกลอยในเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกลอยจำนวน 1,600 หลุม การเตรียมแปลงปลูกเหมือนกับการปลูกมันเทศ ในแปลงปลูกของวิทยาลัยเกษตรฯ เพชรบูรณ์ จะปลูกข้างต้นอโศกอินเดียเพื่อให้เถาของต้นกลอยเลื้อยพันต้นอโศกอินเดีย ต้นกลอยที่ปลูกด้วยเมล็ดอายุต้นประมาณ 3-4 ปี จะขุดหัวกลอยขึ้นมาบริโภคหรือจำหน่ายได้ อ.ชนินทร์บอกว่าในแต่ละหลุมจะได้หัวกลอยที่มีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ปัจจุบันราคาซื้อ-ขายหัวกลอยสดเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท ถ้าแปรรูปเป็นกลอยสด 20-25 บาทต่อกิโลกรัมและถ้าเป็นกลอยตากแห้งกิโลกรัมละ 100-150 บาท นับเป็นพืชเสริมที่ทำรายได้หลักอีกชนิดหนึ่ง
สิ่งสำคัญที่เกษตรกรคิดจะปลูกกลอยในอนาคตจะต้องศึกษาในเรื่องการแปรรูปโดยเฉพาะในเรื่องพิษของกลอย เนื่องจากในหัวกลอยจะมีสารพิษที่มีชื่อว่า “ไดออสคอรีน” มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จะต้องเรียนรู้วิธีการกำจัดสารพิษให้หมดไปจากเนื้อกลอยก่อนที่จะนำมาบริโภค
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=164364&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น