ประเทศไทยได้อะไรจาก พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 51
ประเทศไทยได้อะไรจาก พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการประกาศ พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หลังจากได้ประกาศแล้ว คือ นับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์ และสินค้าประมง
ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตรและกิจกรรมต่อเนื่องที่ไม่มีกฎหมายอื่นใช้บังคับ ตั้งแต่ระดับฟาร์ม การแปรรูป และการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในเวทีการค้าโลกด้วย และกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เกิดโรคระบาดสัตว์ โรคระบาดพืช หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรก็จะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่ง
นายสรพล เถระพัฒน์ ผอ.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรยังกำหนดให้มีการรณรงค์ ส่งเสริม และเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาระบบการผลิตและนำมาตรฐานที่กำหนดไปใช้ด้วย สำหรับการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร จะมีทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป (มาตรฐานสมัครใจ) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเร่งจัดทำกฎหมายลูกออกมารองรับภายใน 180 วัน พร้อมออกประกาศกฎกระทรวง เพื่อเป็นแนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานบังคับ จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก มกอช. โดยจะต้องนำสินค้าขอรับการตรวจสอบและได้รับใบรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ได้รับใบอนุญาตจาก มกอช. นอกจากนี้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้ายังต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับกับสินค้าเกษตรที่เป็นมาตรฐานบังคับนั้น ส่วนมาตรฐานทั่วไปเป็นมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสมัครใจที่จะปฏิบัติตาม เพื่อแสดงสิทธิเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความนิยมและเชื่อมั่นในสินค้าเกษตร
ส่วนผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ได้รับใบอนุญาตจาก มกอช. ต้องมีห้องปฏิบัติการเครื่องมือและอุปกรณ์อย่างครบถ้วนตามหลักสากล โดยต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ไม่เปิดเผยข้อมูลของลูกค้า หรือต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในผลประโยชน์กับลูกค้า เป็นต้น หากพบว่า ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะถูกสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตทันที
สำหรับประโยชน์ของ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 คือ จะช่วยให้เกษตรกรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อใช้ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการผลิต ทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการจะสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าอย่างมีมาตรฐาน ทั้งยังได้สินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและตรงความต้องการของผู้บริโภค ผลักดันให้มูลค่าเศรษฐกิจการค้าสูงขึ้นด้วย ขณะที่ผู้บริโภคเอง ก็จะเข้าถึงข้อมูลสินค้า สามารถช่วยตัดสินใจในการ เลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ซึ่งจะลดความสูญเสีย ลดอัตราการเจ็บป่วย ช่วยประหยัดทรัพยากรของประเทศ
ภาครัฐยังจะสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์ม ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เสมอภาค ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังจะเป็นเครื่องมือช่วยในการเจรจาทางการค้าสินค้าเกษตร สร้างความเท่าเทียมในการกำหนดมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศสอดคล้องกับสถานการณ์โลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=164361&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น