เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 51
ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวโลกที่มีการบริโภคสูงที่สุด และประสบปัญหาด้านราคาดังที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยปริมาณ 41% และราคาข้าวสูง
แต่ชาวนาผู้ปลูกข้าวกลับไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังถูกกดราคาจากโรงสีด้วยเหตุผลว่าความชื้นสูง การลดความชื้นที่ชาวนาใช้เป็นวิธีธรรมชาติด้วยการตากแดด ซึ่งไม่มีต้นทุน แต่ไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้เกิดกลุ่มนักวิจัยในโครงการเทคโนโลยีสายอากาศ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นถึงปัญหานี้ จึงร่วมกันวิจัย คิดค้น และประดิษฐ์ "เครื่องต้นแบบลดความชื้นข้าวเปลือก" แบบใช้ไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน โดยการนำของ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ เมธีวิจัยอาวุโส
การผลิตนั้นอยู่บนพื้นฐานต้องราคาไม่สูงมาก ที่สำคัญค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต้องต่ำ โดยมีเงื่อนไขว่าคุณภาพของข้าวต้องไม่ด้อยกว่าเดิมที่ใช้การตากแดดหรือเครื่องมือที่มีอยู่
"เราจึงพัฒนาเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกแบบใช้ไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน โดยใช้ข้อดีของคลื่นที่ให้ความร้อนเร็ว กระจายตัวสม่ำเสมอ ส่งแรงลมไปกระทบเมล็ดข้าวเปลือกทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย ซึ่งคลื่นนี้เราพัฒนาขึ้นใหม่ โดยใช้หลอดแมกนีตรอนที่ใช้ผลิตคลื่นไมโครเวฟพร้อมกันหลายตัว ป้อนคลื่นไปบริเวณที่ปล่อยข้าวเปลือกไหลผ่าน ทำให้ได้กำลังงานสูงกว่าใช้แมกนีตรอนหลอดเดียว" ศ.ดร.โมไนย หัวหน้าทีมวิจัย แจง
พร้อมระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาเงื่อนไขที่เหมาะสมในการใช้อัตราการไหลของข้าวเปลือก อุณหภูมิและอัตราการไหลของลมร้อน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีปริมาณสูงสุด โดยเครื่องดังกล่าวใช้หลอดแมกนิตรอนที่ใช้ในเตาอบไมโครเวฟตามบ้าน 4 หลอด ใช้ไฟฟ้า 5.2 กิโลวัตต์ แต่ต้องระวังคลื่นต้องไม่รั่วจนก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งตามมาตรฐานสากลต้องน้อยกว่า 8 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร เครื่องดังกล่าวมีคลื่นรั่วต่ำกว่า 5 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร
"ได้ทดสอบคุณสมบัติของข้าวที่ผ่านการกระบวนการโดยเครื่องนี้แล้ว ทั้งด้านสี กลิ่น การแตกหัก ตามวิธีการมาตรฐาน พบว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวที่ใช้กระบวนการใช้ลมร้อนทั่วไป เป็นที่ยอมรับได้ และเครื่องนี้มีความสามารถลดความชื้นจาก 24% เหลือ 14% ด้วยปริมาณ 3.1 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และกินไฟฟ้ากิโลกรัมละ 1.7 บาท" ศ.ดร.โมไนยแจง
ส่วนผลพวงหลังข้าวเปลือกผ่านกระบวนการลดความชื้นเรียบร้อย เพื่อเป็นการช่วยชาวนาตรวจสอบความชื้นของข้าวก่อนนำไปส่งโรงสีนั้น ศ.ดร.โมไนยบอกว่าทางทีมวิจัยได้พัฒนา "เครื่องวัดความชื้นขนาดเล็ก" ควบคู่ด้วย โดยใช้การส่งคลื่นไมโครเวฟเข้าไปในข้าวแล้ววัดขนาดของสัญญาณที่แปรผันตามความชื้น ซึ่งเป็นการผลิตแบบง่ายๆ ใช้ต้นทุนไม่มาก
เครื่อง "ลดความชื้นข้าวเปลือก" นั้น ศ.ดร.โมไนยบอกว่า เนื่องทำจากสเตนเลสคุณภาพดี ราคาการผลิตตกเครื่องละ 1 แสนบาท แต่สามารถปรับต้นทุนให้ต่ำลงเหลือหลักหมื่นได้หากผลิตจำนวนมาก และใช้สเตนเลสเฉพาะส่วนที่สัมผัสกับข้าว ส่วนผู้ประกอบการ เกษตรกรผู้สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม อาจารย์บอกให้ติดต่อไปได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โทร.0-2737-3000 ต่อ 3327
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 พฤษภาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/05/20/x_agi_b001_203215.php?news_id=203215