เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 51
ถึงแม้ “ข้าว” ขณะนี้ราคาส่งออกแพง แต่การซื้อขายในบ้านเรากลับมีปัญหา ซึ่งโรงสีข้าว พ่อค้าคนกลางให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ “ความชื้นสูง”
หากบ้านไหนมี พื้นที่ ลานกว้าง จะใช้วิธี ตากแดด เพื่อทำให้ ผลผลิตคุณภาพดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถควบคุมคุณภาพ รวมทั้งสภาพแวดล้อมไม่เอื้อนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฝนตกพรำเกือบทุกวัน ปัญหาดังกล่าวจึงเป็น “การบ้านหัวข้อใหญ่” ที่รัฐบาลชุด “นายกฯสมัคร สุนทรเวช” ต้องเร่งแก้ไข
ด้วยการปล่อยวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้แทรกแซงรับซื้อ ผ่านหน่วยงานภาครัฐ แต่แค่เพียง ผ่อนหนัก เป็นเบา ระยะสั้นๆ หาใช่แก้ที่ ต้นเหตุ
ฉะนี้...ศาสตราจารย์ ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสำนักวิจัยการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงสร้าง เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกแบบใช้ไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน และ เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร.โมไนย เผยว่า เพื่อเป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่ง อีกทั้งไม่ตอกย้ำ ซ้ำเติมชาวนา การสร้างเครื่องฯต้นทุนต้องไม่สูง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต้องต่ำ ข้าวมีคุณภาพไม่ด้อยลงไปจากเดิม มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และควรมีเครื่องวัดความชื้นให้ผลแม่นยำ ใช้ง่าย ราคาถูก สำหรับควบคุม เปรียบเทียบอ้างอิงข้อมูลกับโรงสีข้าว
เครื่องดังกล่าว ลักษณะการทำงานแบบ “ไมโครเวฟร่วมกับลมร้อน” เหมือนที่ใช้ อุ่นอาหารตามบ้าน แต่ใช้หลอด แมกนีตรอน จำนวน 4 หลอด ป้อนส่งคลื่นเข้าไปยังข้าวเปลือก ผ่านอย่างต่อเนื่อง เหมาะสม มีการฟุ้งกระจายในบริเวณที่มีลมร้อนจากแหล่งจ่ายพลังงานสม่ำเสมอทั่วถึง
สามารถลดความชื้นจาก 24 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ และจากการคิดค่าเฉลี่ยจำนวนข้าวเปลือก 3.1 กก./ชม. ใช้กำลังไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 5.2 กิโลวัตต์ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ กก. ละ 1.7 บาท เมื่อขบวนทำงานขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้น ได้ ทดสอบคุณสมบัติทั้ง ด้านสี กลิ่น และ การแตกหัก ตามวิธีมาตรฐาน พบว่า คุณภาพข้าวเปลือกใกล้เคียงกับกระบวนการใช้ลมร้อนทั่วไป
และ...ตรวจสอบความชื้นก่อนนำไปส่งโรงสีด้วยเครื่องวัดขนาดเล็ก ที่ใช้การส่งคลื่นผ่านเข้าไปในข้าว วัดขนาดของสัญญาณที่แปรผัน โดยสร้างกราฟเพื่อเปรียบเทียบค่า ให้ผลออกมาเหมือนที่โรงสีทั่วไปใช้ ด้วยเช่นกัน ส่วนอันตราย ต่อผู้ใช้อย่างที่หลายคนหวาดหวั่น เครื่องดังกล่าวมีคลื่นไมโครเวฟรั่วต่ำกว่า 5 มิลลิวัตต์/ตร.ซม. ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานโดยทั่วไปซึ่งกำหนดไว้ที่ 8 มิลลิวัตต์/ตร.ซม.
เครื่องลดความชื้นข้าว เปลือก สร้างจากฝีมือคนไทยเพื่อคนไทย จึงน่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นำมาใช้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ในระยะยาว กลุ่มเกษตรกรรายใดสนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2737-3000 ต่อ 3327 ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=90522