เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 51
นายทรงศักดิ์ วงษ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนผู้ผลิตลำไยทั้งในและนอกฤดูว่า โรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอร่าเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่เกษตรกรต้องติดตามตรวจสอบหมั่นสังเกต และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่ฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน เพราะหากเกิดการระบาดมีโอกาสทำให้ ต้นลำไยตายในระยะเวลาค่อนข้างเร็ว ต้นลำไยที่แสดงอาการของโรคเริ่มแรกใบจะค่อยๆ เหลือง เมื่อขูดบริเวณโคนต้นจะพบรากฝอยเน่าและแข็งมีสีดำ เนื้อเยื่อโคนต้นใต้ดินและรากแขนงที่ต่อจากโคนต้นจะแสดงอาการเน่าด้วย หากถากเปลือกออกเนื้อเยื่อโคนต้นและเนื้อเยื่อรากแขนงจะมีลักษณะคล้ำสีน้ำตาลปนม่วง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า วิธีป้องกันกำจัดโรครากและโคนเน่าของลำไย ถ้าจะให้ได้ผลดีควรใช้วิธีการผสมผสาน คือ ควรปลูกลำไยให้มีระยะห่างที่พอเหมาะ ไม่ปลูกชิดกันเกินไปควรตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น ทั้งยังต้องกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มด้วย โดยต้องหลีกเลี่ยงการขุดดินใต้ทรงพุ่มซึ่งจะทำให้รากลำไยขาด กรณีที่ลำต้นเกิดบาดแผลควรทาบาดแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น สารเมนโคเซป นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงระบบการระบายน้ำในแปลง ไม่ควรให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอ หากพบต้นเป็นโรคควรกำจัดโดยการขุดแล้วเผาทำลาย แล้วราดสารป้องกันกำจัดโรคพืชบริเวณโคนต้น นำชีววิธีมาควบคุมโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ผสมคลุกเคล้ากับดินภายในทรงพุ่ม หรืออาจใช้เชื้อแบคทีเรียที่เตรียมจากน้ำหมักพืชผสมกับน้ำราดดินภายในทรงพุ่ม เป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=90642