เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 51
จากสถานการณ์ราคาข้าวที่มีการปรับตัว เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญของการงดส่งออกข้าวของอินเดีย และการชะลอการทำสัญญาส่งออกข้าวของเวียดนาม รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกที่สำคัญมีปัญหา ส่งผลทำให้ความต้องการข้าวในตลาดโลกในปี 2551 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณความต้องการข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทย และต่อเกษตรกรผู้ปลูกแล้ว คุณภาพของผลผลิตก็มีความสำคัญ กรมการข้าวในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับ ดูแลการผลิตข้าวและการวิจัยข้าวไทย จำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาผลผลิตข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และให้ความพอเพียงต่อการบริโภคและก้าวสู่การเป็นผู้นำทั้งในด้านการผลิตข้าวที่ดีมีคุณภาพ และการเป็นผู้ส่งออกข้าวต่อไป
“มีการพัฒนายุทธศาสตร์ข้าวไทยในปี 2550-2554 โดยได้กำหนดให้คงพื้นที่ปลูกข้าวไว้ที่ 57.5 ล้านไร่ ตามศักยภาพเขตชลประทาน และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มจาก 439 กก./ไร่ เป็น 529 กก./ไร่ ในปี 2553/2554 เพิ่มผลผลิตข้าวเปลือก โดยผลผลิตข้าวรวมเพิ่มขึ้น 13.5% จาก 29.432 ล้านตัน เป็น 33.405 ล้านตัน ในปี 2553/2554 และเพิ่มคุณภาพข้าวหอมมะลิให้ สีเป็นข้าวสารได้ต้นข้าวมากกว่า 42 กรัมในปี 2554” นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว บอกถึงผลผลิตข้าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันถึงแม้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 57 ล้านไร่ และครองตำแหน่งแชมป์ผู้ส่งออกข้าวป้อนประชากรโลกมากที่สุด แต่ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เฉลี่ย 439 กก./ต่อไร่ แต่ขณะที่จีนมีผลผลิตเฉลี่ย 1,002 กก./ไร่ ส่วนเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยมีผลผลิต 741 กก./ไร่ นอกจากนี้การวิจัยพัฒนาเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดีมีคุณภาพ
ที่สำคัญควรมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพข้าว มาใช้ในการพัฒนามาตรฐานข้าวไทย และพัฒนาเกษตรกรให้มีการปลูกข้าวตามระบบที่มีการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสม (GAP) สำหรับข้อกำหนดในกระบวนการผลิตที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากศัตรูพืช สารเคมีและมีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค คือ 1.แหล่งน้ำต้องสะอาด ปลอดภัย ห่างไกลจากแหล่งที่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง 2.พื้นที่ปลูกต้องห่างไกลจากแหล่งที่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง 3.ไม่มีการใช้วัตถุอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิต
4.มีการใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีตรงตามพันธุ์ ใช้ปุ๋ยในอัตราที่ถูกต้อง และเวลาที่เหมาะสม ใช้สารป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างถูกวิธี 5.การเก็บเกี่ยวในเวลาที่ เหมาะสมและมีการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง ได้ผลผลิตแห้งเก็บรักษาได้นาน 6.มีการจัดการให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพการสีที่ดี 7.ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพที่ดีปราศจากศัตรูข้าวและปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และ 8.มีระบบการบันทึกที่ถูกต้องและครบถ้วนทั้งกระบวนการผลิต
ข้าวเป็นพืชอาหารหลักของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละแสนล้าน และไทยปลูกข้าวมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี ฉะนั้นกรมการข้าวในฐานะที่เป็นองค์กรนำในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมข้าว จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อความมั่งคั่งของชาวนาไทย และการครองตำแหน่งความเป็นผู้นำด้านตลาดและการผลิตข้าวของโลกของไทยต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=164698&NewsType=1&Template=1