พลิกฟื้นนาร้างภาคใต้สู่ผืนนาข้าวเพื่อการค้า และแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 51
พลิกฟื้นนาร้างภาคใต้สู่ผืนนาข้าวเพื่อการค้า และแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพ
ประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองของชาวโลก ในด้านการเป็นผู้นำด้านการผลิตพืชอาหารที่สำคัญประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะข้าวกำลังเป็นที่ต้องการของนานาประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวขณะนี้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นับเป็นโอกาสดีของชาวนาที่จะได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำและได้หลุดพ้นจากความยากจนและหนี้สินเสียที
จากสถานการณ์ข้าวราคาดีนี่เองทำให้ผืนนาเป็นเสมือนแหล่งเงินแหล่งทองที่แม้แต่คนนอก วงการเกษตรยังอยากจะเข้ามาจับจองเป็นเจ้าของ แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีพื้นที่นาร้าง อีกจำนวนมากที่เกษตรกรปล่อยทิ้งร้างโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ สาเหตุเพราะสมัยก่อนราคาข้าวไม่ดี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง ต้องใช้แรงงานมาก ประกอบกับบางแห่งมีปัญหาดินและน้ำ เมื่อรายได้ไม่คุ้มค่าเกษตรกรก็ปล่อยนาให้ร้างแล้วหันไปปลูกพืชอื่นหรือไปรับจ้างแทน ซึ่งพื้นที่นาร้างเหล่านี้สามารถพลิกฟื้นกลับมาปลูกข้าวหรือพืชเศรษฐกิจได้หากได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูอย่างถูกวิธี กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามารับหน้าที่ในการฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้างให้กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูกได้อีกครั้ง
นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นว่าพื้นที่นาร้างในประเทศมีจำนวนมาก ซึ่งบางแห่งยังสามารถพัฒนาปรับปรุงให้กลับมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้อีก โดยเฉพาะช่วงนี้ข้าวราคาดีถ้าทางภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือในด้านการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย เชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะหวนกลับมาใช้ที่ดินของตัวเองก่อให้เกิดรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพต่อไป โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเร่งดำเนินการฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช
เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีพื้นที่ 1.9 ล้านไร่ ครอบคลุม 11 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช และบางพื้นที่ของจังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง ในจำนวนนี้มีพื้นที่นาร้างทั้งสิ้น 70,258 ไร่ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดเขตการฟื้นฟูพื้นที่นาร้างออกเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนปลูกข้าวเพื่อการค้า โซนปลูกข้าวเพื่อบริโภค โซนปลูกปาล์มน้ำมัน และโซนปลูกพืชหรือทำประโยชน์ด้านอื่น สำหรับโซนปลูกข้าวเพื่อการค้านั้นมีพื้นที่ที่ดำเนินการได้ 34,578 ไร่ ซึ่งในปี 2551 กรมพัฒนาที่ดินมีเป้าหมายเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้างเพื่อปลูกข้าว 20,000 ไร่
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพเลี้ยงคนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ แต่ด้วยสภาพปัญหาดินเปรี้ยวและระบบชลประทานยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตข้าวได้ปริมาณน้อยไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือไปเป็นแรงงานรับจ้างในจังหวัดอื่นแทน จากการสำรวจพื้นที่นาร้างกว่า 70,000 ไร่ พบว่าสภาพดินมีทั้งดินเปรี้ยวและดินคุณภาพดี ดังนั้นในเขตที่ดินดีกรมฯ จะเข้าไปไถกำจัดวัชพืชและปรับปรุงโครงสร้างดินพร้อมทั้งทำคันดินเพื่อเก็บกักน้ำให้เหมาะสมกับการปลูกข้าว โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจะทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500 กิโลกรัมต่อไร่
สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาดินเปรี้ยวกรมฯ จะเข้าไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาดินและทำการยกร่องสวนเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรด้วย เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี เนื่องด้วยภาวะปุ๋ยเคมีแพงถ้าเกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนเคมีในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 500 บาทต่อไร่
การพลิกฟื้นนาร้างในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังให้คืนกลับมาสู่ผืนนาข้าวและแปลงปลูกปาล์มน้ำมัน ไม่เพียงแต่ทำให้ที่ดินทิ้งร้างสามารถกลับใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้เท่านั้น ยังเป็นการดึงเกษตรกร ที่หันเหไปสู่อาชีพอื่นให้หวนกลับมาสู่ภาคเกษตรที่สามารถสร้างความเป็นอยู่ดี มีสุข ให้สมกับที่อยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165008&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น