เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 51
ช่วงฤดูฝน พืชท้องถิ่นส่วนใหญ่จะแตกดอกออกผลเพื่อให้เก็บเกี่ยวกิน หรือบางอย่างบางชนิดก็ไม่ต้องรอฤดูกาล อย่างเช่นต้นกล้วยที่ให้ผลผลิตกันทั้งปี
กล้วย ในบางครั้งก็สร้างความแปลกประหลาด อย่าง หัวปลีแฝด 3 หัว ของ นายสุกิจ นาแดงหงส์ทวี วัย 72 ปี ที่สวนหลังบ้านเลขที่ 343 หมู่ 8 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา...ก็ทำให้ชาวบ้านพากันแห่มาหาเลขเด็ด
หรือ “ปลี 2 หัว” ของกล้วยน้ำว้า โผล่ขึ้นจากดิน ณ บ้านขอนอ้าปาก หมู่ 10 ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก....ชาวบ้านแตกตื่นแห่ไปขอโชคลาภเช่นกัน (แต่ในข่าวไม่ได้บอกว่ารวยกันหรือไม่)
“หัวปลี”.....คือดอกของกล้วยลักษณะยาวเรียวกลีบห่อหุ้มผล จะนำไปประกอบอาหารหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยนำมารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
นางสาวสิรดา ศรีหิรัญ นิสิตปริญญาตรีภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำหัวปลีเข้าสู่งานวิจัยในครั้งนี้บอกว่า.... ทำการศึกษาด้วยการนำสารสกัดจากยางของหัวปลี มาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารของหนูขาวพันธุ์ Wistar จนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ
กลุ่มแรกชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะหนูด้วย absoluteethanol ทำให้...แล้วใช้ สารสกัดจากหัวปลีในปริมาณ 400, 800 และ 12,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จึงนำกระเพาะอาหารออกมาตรวจสอบ ผลพบว่า แผลในกระเพาะอาหารลดลง ที่ 4.34+0.17, 3.44+1.65 และ 1.46+1.14 ตามลำดับ
และเมื่อ นำมาเปรียบเทียบกับการรักษาแผลในกระเพาะหนู ด้วยการควบคุมที่ใช้น้ำมันข้าวโพด 0.5 มิลลิลิตร (อันเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการบำบัดแผลในกระเพาะหนู) ผลการทดลองสามารถป้องกันแผลในกระเพาะอาหารได้ 63.22, 71.19 และ 87.63% ตามลำดับ
อีกกลุ่มมีการชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการ ใช้ยากลุ่ม NSAIDs หรือ แอสไพริน...แล้วใช้สารสกัดจากหัวปลี ในปริมาณ 400, 800 และ 12,000 ต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับครั้งแรก ทิ้งไว้ในระยะเวลา 4 ชั่วโมง
เมื่อนำมาตรวจสอบพบว่า สารสกัดจากหัวปลีทำให้แผลในกระเพาะอาหารลดลง จาก 2.59+1.00 ในกลุ่มควบคุมเป็น 1.35+0.48, 1.06+0.28 และ 0.70+0.33 ตามลำดับ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สามารถป้องกันแผลในกระเพาะอาหารได้ 47.88, 59.07 และ 73.13%
และ...กลุ่มสุดท้ายหนูที่เกิดแผลในกระเพาะอาหารจากความ เครียด ที่ถูกนำไปใส่ในกรงรูปทรงกระบอก ควบคุมอุณหภูมิที่ 4 องศาเซลเซียส 4 ชั่วโมง จากนั้นให้สารสกัดเข้าไปในอัตราเดิม ผลปรากฏว่าสามารถควบคุมและป้อง กันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 45.41, 65.27 และ 86.17%
จากการศึกษาข้อมูลทั้งหมดนี้ ก็สรุปได้ว่าแผลในกระเพาะอาหารใน 3 รูปแบบ สามารถใช้สารสกัดแอลกอฮอล์หรือเอทานอล จากปลีกล้วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้...
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสร้าง ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เข้าสู่ทางเลือก เพื่อประโยชน์ในอนาคต ในการที่จะนำเอาพืชท้องถิ่นมาพัฒนาเป็น ยารักษาโรค.....ซึ่งมีราคาถูกและ ผลกระทบข้างเคียงน้อยที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 26 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=91108