เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 51
การปลูกข้าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ถึง 10 ล้านไร่ ด้วยวิธีหว่านข้าวแห้งและไถกลบแทนการปักดำ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงมีปัญหาเกี่ยวกับฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงและการกระจายของฝนไม่ดี ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนั้นดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยังเป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรขาดแรงงานในการปลูกข้าว จึงต้องทำการหว่านและไถกลบทำให้การกระจายของเมล็ดข้าวไม่สม่ำเสมอ ตลอดทั้งความลึกของเมล็ดข้าวที่ถูกฝังกลบลงดินไม่สม่ำเสมอ ทำให้การงอกของเมล็ดข้าวไม่สม่ำเสมอตามไปด้วยซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตต่ำ
นายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเกษตร กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า การเพิ่มผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้นั้นมีทางเป็นไปได้สูงคือจะ ต้องปลูกข้าวให้ประณีตกว่าเดิมและใช้เครื่องหว่านข้าวช่วย
จากประสบการณ์ทำงานวิจัย สมัยทำงานอยู่กรมวิชาการเกษตรและได้คลุกคลีกับการปลูกข้าวโดยใช้เครื่องหยอดข้าวและหว่านข้าวกว่า 10 ปี นายสุรเวทย์ ได้สร้างเครื่องหยอดข้าวและหว่านข้าว 4 แบบประสบผลสำเร็จ สามารถนำไปใช้งานได้ทั้ง 4 แบบคือ เครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ เครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวพ่วงรถไถเดินตาม
แต่เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ เป็นเครื่องที่เกษตรกรสนใจและนำไปใช้มากที่สุดเนื่องจากทำงานได้รวดเร็วถึง 30-40 ไร่ต่อวัน การกระจายเมล็ดข้าวสม่ำเสมอกว่าการใช้คนหว่าน สำหรับเกษตรกรที่มีรถแทรกเตอร์อยู่แล้วสามารถนำเครื่องหว่านไปติดตั้งได้เลยโดยไม่ต้องมีการดัดแปลงการใช้งานใด ๆ ทั้งสิ้นและไม่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนา คือ ทำนาแบบเดิมได้คือ ไถดะ 1 ครั้ง แล้วหว่านเมล็ดข้าวแห้งได้เลย การปรับความลึก การฝังของเมล็ดพันธุ์ประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยข่มวัชพืช
การใช้เครื่องหว่านข้าวนั้นการกระจายและความลึกของเมล็ดพันธุ์ข้าวจะสม่ำเสมอ หากใช้คนหว่าน นอกจากการกระจายและความลึกของเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่สม่ำเสมอแล้วยังใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่า คือใช้ถึง 20-30 กก.ต่อไร่
สำหรับเครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ขนาดกำลัง 60 แรงม้าขึ้นไป อัตราการทำงาน 5-6 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการหว่านเมล็ดข้าวปรับได้ในช่วง 10-25 กก.ต่อไร่ การใช้งานติดตั้งบนผาลพรวน 6 จานหรือ 7 จาน ถังบรรจุข้าวได้ 50 กก. (ข้าวเปลือก) ใช้แรงงานคน 1 คน ความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิง 1.5-3 ลิตรต่อไร่ ความสม่ำเสมอของต้นข้าว 80-90% ข้อดีของเครื่องคือ หว่านและกลบเมล็ดข้าวในขั้นตอนเดียวกับการไถพรวน ทำให้เกษตรกรสามารถลดขั้นตอน เวลา และแรงงานในการหว่านข้าวได้ แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สะอาด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ นายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี โทร. 08-4656-8019.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165135&NewsType=1&Template=1