เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 51
อาหารปลอดภัย...เป็นนโยบายของรัฐบาลในการตามสุขอนามัย โดยการสร้างมาตรฐานให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับเดียวกัน...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือ ว่าเป็นหน่วยงานหลักในการผลิต ได้ปฏิบัติการ from farm to table ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังในกระบวนการผลิตได้ว่าขั้นตอนไหน ที่บกพร่องหรือทำให้เกิดการปนเปื้อน Good Agri-cultural practice (GAP) หรือ การผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม เป็นกระบวนการที่สำคัญอันหนึ่งที่ถือว่า คือหัวใจของการผลิตอาหารปลอดภัย
นายบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ ซึ่งเป็นเกษตรกรตำบลหนองแซง กิ่งอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้หนึ่งที่ยึดการปฏิบัติในภาคกสิกรรมตามแบบของ GAP จนประสบความสำเร็จเป็น เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชา การเกษตรดีเหมาะสม
นายบุญส่วน ได้เล่าว่า...อดีตเคยทำนา ทำไร่ ก็แบบล้มลุก คลุกคลาน จนกระทั่งมาทำสวนมะม่วงเป็นอาชีพหลัก โดยเริ่มจากปลูกมะม่วงเพื่อทำเป็นต้นตอ เช่น มะม่วงป่า และ มะม่วงกะล่อน พออายุได้ 1 ปี จึงเอามะม่วงพันธุ์ดี เช่น พันธุ์เขียวเสวย, น้ำดอกไม้สีทอง, โชคอนันต์, เจ้าคุณทิพย์, พิมเสนมัน, มันค่อม, อกร่อง, พิกุลทอง, มันเดือนเก้า และ ลิ้นงูเห่า มาเสียบยอด
เมื่อผลผลิตออกมาเก็บเกี่ยวแล้วจะนำไปจำหน่ายด้วยตนเอง ทำให้ทราบว่าตลาดต้องการมะม่วงพันธุ์ใดบ้าง จึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีทางเสียบยอดมะม่วงสายพันธุ์ใหม่ๆ และขยายพื้นที่เป็นสวนมะม่วงถึง 49 ไร่ โดยปลูกพันธุ์ โชคอนันต์ จำนวน 21 ไร่ น้ำดอกไม้สีทอง 7 ไร่ เขียวเสวย 4 ไร่ พันธุ์ลูกผสมระหว่างแรดกับแก้ว (มะม่วงตึก) 3 ไร่ และปลูกมะม่วงป่าเพื่อเก็บไว้เป็นต้นตออีก 14 ไร่...
เหตุที่ตัดสินใจปลูกมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์มากกว่าพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากได้ไปศึกษาดูงานที่ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จึงได้ความรู้ว่ามะม่วงพันธุ์นี้อายุเพียง 3 ปี ก็จะให้ผลผลิตและติดผลดกมาก คาดหวังว่าคงจะสร้างรายได้ให้อย่างดี...ปัจจุบันมีมะม่วงโชคอนันต์ถึง 1,300 ต้น
ต่อมาในปี 2547 ทราบว่ามีการส่งเสริมกระบวนการผลิตพืชตามระบบ จึงได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น แล้วดำเนินการตามหลักวิชาการทุกขั้นตอน รุ่งขึ้นอีกปีจึงได้รับการ รับรองแหล่งผลิตพืช GAP มะม่วง จากกรมวิชาการเกษตร ...ทำให้สามารถขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
หลังจากที่ประสบความสำเร็จ นายบุญส่วนมิได้หวงวิชาแต่อย่างใด กลับยังส่งเสริมและถ่ายทอด ความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจจะผลิตพืชตามระบบ GAP และยังเผยถึงเคล็ดลับการทำสวนมะม่วงให้ได้คุณภาพดีว่า...
“...หากจะเน้นการผลิตเป็นมะม่วงกินผลสุก จึงต้องให้ความสำคัญด้านคุณภาพเป็นอย่างมากการใส่ปุ๋ยให้แก่ต้นมะม่วงต้องถูกช่วงเวลา ที่สำคัญต้องตัดหญ้าให้โล่งเตียน เพื่อช่วยลดการระบาดของโรคและแมลง จากนั้นให้นำหญ้าไปคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น ปลูกปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง และถั่วพร้าในระหว่างแปลงปลูก รวมถึงการใช้สารชีวภาพ เช่น ปุ๋ยน้ำหมัก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี...”
นอกจากนี้ยังทำ มะม่วงนอกฤดู จำหน่ายปรากฏว่าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปีที่แล้วมีรายได้เสริมถึง 300,000 บาท จึงช่วยปลดหนี้ และ ยังมีเงินเหลือออม ไว้ด้วย
เมื่องาน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ผ่านมา เขาก็ได้รับพระราชทานโล่รางวัล...อันเป็นเกียรติภูมิแห่งชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=91361