ผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลนำร่อง 20 แห่งปี 51 ให้เกษตรกรใช้กับเครื่องจักรการเกษตร
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 51
ผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลนำร่อง 20 แห่งปี 51 ให้เกษตรกรใช้กับเครื่องจักรการเกษตร
กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทขึ้น โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทดแทน (ไบโอดีเซล) ในสถาบันเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของการผลิตภาคเกษตรกรรม
พลังงานสําคัญที่มีการใช้ปริมาณมากและคิดเป็นค่าใช้จ่ายสําคัญของเกษตรกรก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก ที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ปัจจัยการผลิตและการดํารงชีพของเกษตรกร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องไถนา เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องพ่นยาและปุ๋ย เครื่องเก็บเกี่ยวและเครื่องนวดผลผลิต เครื่องปั่นไฟ เครื่องเติมอากาศสําหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ยานพาหนะในการขนส่ง เช่น รถขนส่งผลผลิต (รถอีแต๋น) รถบรรทุกขนาดเล็ก 1 ตัน (รถปิกอัพ) ไปจนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ สําหรับเกษตรกรผู้ทําประมงก็ใช้สําหรับเครื่องยนต์เรือ โดยมีอัตราการใช้ประมาณ 5.17 ล้านลิตรต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 6 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งประเทศ เช่น เติมรถไถนากว่า 3 ล้านคัน ทั่วประเทศ เรือประมงชายฝั่งขนาดเล็กความยาวไม่เกิน 18 เมตร อีกกว่า 12,000 ลํา เป็นต้น
ซึ่งน้ำมันดีเซลทั้งหมดต้องสั่งซื้อจากภายนอก ขณะที่ราคามีความผันผวนและแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทําให้เกษตรกรต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้และทําให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตที่ขายได้มิได้เพิ่มขึ้น
จากปัญหาดังกล่าวทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสํานักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทดแทน (ไบโอดีเซล) ในสถาบันเกษตรกรขึ้น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้มีแหล่งพลังงานต่ำสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและผาสุกมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดำเนินการผลิต ให้บริการ และจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ โดยการสนับสนุนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากพืชน้ำมันที่มีศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น อาทิ ปาล์มน้ำมัน, มะพร้าว, ถั่วลิสง, ทานตะวัน, มันสําปะหลัง ฯลฯ หรือใช้พืชที่สามารถปลูกได้ตามที่ว่างเปล่าหัวไร่ปลายนา เช่น สบู่ดํา น้ำมันพืชใช้แล้ว นํามาผ่านขั้นตอนทําให้บริสุทธิ์ เป็นน้ำมันไบโอดีเซล ที่สามารถนํามาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้
ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจแก่เกษตรกร และประชาชนในชุมชนเกี่ยวกับการผลิตและใช้น้ำมันไบโอดีเซลเพื่อลดปริมาณมลพิษที่เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซล ที่มีคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO2), สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (HC4), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ฯลฯ ที่อาจตกค้างในผลผลิตของ เกษตรกร และเป็นการรองรับมาตรการการผลิตทางการเกษตรที่ดี (GAP) ตลอดถึงด้านอาหารปลอดภัย (FOOD SAFETY) อีกด้วย
โครงการนี้จะจัดตั้งระบบการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและส่งเสริมให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นศูนย์กลางในการผลิตและใช้จํานวน 20 แห่ง ทั่วประเทศ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะจัดเงินอุดหนุนให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร สำหรับจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตและจําหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลให้สามารถทําการผลิตและพัฒนาคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ตามศักยภาพของแต่ละชุมชน
สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุนจะเป็นผู้ดําเนินการจัดหาและซื้อวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือที่จําเป็นในการผลิตและจําหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลในแต่ละประเภทตามศักยภาพของแต่ละชุมชน โดยมีการติดตั้งและทดสอบการทํางานของเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ทั้ง 20 แห่ง ในปี 2551 นี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165349&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น