เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 51
แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ปี 2551 ว่า ประเทศไทยจะสามารถผลิตข้าวได้ไม่น้อยกว่า 30.93 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศมีประมาณ 16.94 ล้านตัน และส่งออกประมาณ 13.26 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 45 ของผลผลิตทั้งหมด
แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรมักประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนทิ้งช่วง ปัญหาแล้งซ้ำซาก ดินเสื่อมโทรม บางปีมีโรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด ทั้งยังขาดแคลนแหล่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อการเกษตร และปัญหาด้านการตลาด ขณะเดียวกันชาวนาส่วนใหญ่ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง
ด้วยเหตุนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตข้าว ซึ่งจะช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น การเปิด “คลินิกข้าว” โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าข้าวของไทย โดยเปิดให้บริการเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่มีปัญหาด้านการผลิตข้าวเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงขึ้นด้วย
นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเปิดคลินิกข้าว เน้นสร้างทางเลือกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้แก่เกษตรกร โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงบำรุงดินในนาข้าวโดยการไม่เผาตอซัง การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพช่วยย่อยสลายฟางข้าว หรือการใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ดี ในอัตราไม่เกิน 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อให้แปลงนาโปร่ง ลดการระบาดของศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มทางเลือกการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และการบริหารศัตรูพืชตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ลดการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ไม่จำเป็น ซึ่งการปฏิบัติดีทั้ง 4 ข้อหลักดังกล่าว ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยไม่กระทบต่อคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร
"การใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น แต่ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ทั้งยังทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ชาวนาจึงควรใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใช้สูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายแปลง เพื่อลดความสิ้นเปลืองค่าปุ๋ยเคมี หากเกษตรกรสามารถทำได้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึงร้อยละ 47 หรือประมาณ 241 บาทต่อไร่ต่อฤดูการผลิต" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวย้ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 2 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/02/x_agi_b001_204980.php?news_id=204980