ปลูกกระท้อนห่อ นานกว่า 30 ปีของเกษตรกรลพบุรี
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 51
ปลูกกระท้อนห่อ นานกว่า 30 ปีของเกษตรกรลพบุรี
ปัจจุบันแหล่งผลิตกระท้อนห่อที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของประเทศอยู่ที่ จ.ลพบุรี โดยเฉพาะที่เขตพื้นที่ ต.ตะลุง อ.เมือง กระท้อนห่อได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดด้วยรสชาติและคุณภาพดี ดูได้จากการที่ จ.ลพบุรีได้มีการจัดงานวันกระท้อนหวานเป็นประจำทุกปี และในปี พ.ศ. 2551 จัดเป็นครั้งที่ 18 แล้ว คุณทองคำ หอมทอง บ้านเลขที่ 85 หมู่ 8 ต.ตะลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี หนึ่งในพี่น้องที่ช่วยการทำ สวนกระท้อนที่มีชื่อสวนว่า “สวนทองดี น้อยเหน่” โดยคุณทองดีได้กล่าวอย่างสั้น ๆ ว่า “ครอบครัวมีทุกอย่างในวันนี้ได้ เพราะกระท้อน”
คุณทองคำเล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มเดิมทีทำสวนละมุดมาก่อนและมีพื้นที่ว่างก็ปลูกข่าแซมลงไป ต่อมามีปัญหาว่าละมุดมีอายุวางขายในตลาด สั้นเพียง 2-3 วันเท่านั้น สำหรับข่าที่ขุดขายได้ถึงแม้จะชะลอการขายได้แต่ก็มีราคาขึ้น-ลงไม่แน่นอน จึงได้ตัดสินใจไปหาซื้อกระท้อนห่อจาก จ.นนทบุรี มาปลูก เริ่มแรกเน้นที่พันธุ์ทับทิมและได้ซื้อกิ่งพันธุ์ปุยฝ้ายติดมาด้วยเล็กน้อย คุณทองคำเริ่มปลูกกระท้อนแซมระหว่างต้นละมุด สุดท้ายเอาต้นละมุดออกจนหมด กระท้อนพันธุ์ทับทิมปลูกไปได้ 3 ปีเศษเริ่มให้ผลผลิต ปัจจุบันสายพันธุ์กระท้อนที่ปลูกอยู่ในสวนของคุณทองคำจะมีเพียงพันธุ์ปุยฝ้ายและพันธุ์อีล่าเท่านั้น
ในเรื่องกระท้อนพันธุ์อีล่านั้นหลายคนยังเข้าใจผิดว่าพันธุ์อีล่ามีเพียงชนิดเดียว ความจริงไม่ใช่ ที่สวนโชคชัย จ.ตราด ปลูกกระท้อนโดยมีประสบการณ์ในการปลูกกระท้อนมานานและปลูกมาแล้วทุกสายพันธุ์ในที่สุดจะเหลือและขยายพื้นที่ปลูกเฉพาะ “พันธุ์อีล่ายักษ์” ที่ซื้อกิ่งพันธุ์มาจากท้องสนามหลวง (เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ท้องสนามหลวงเป็นตลาดนัดผลไม้) และนำมาคัดเลือกสายพันธุ์จนได้พันธุ์อีล่ายักษ์ที่มีคุณภาพและขนาดผลใหญ่ที่สุดโดยมีลักษณะประจำพันธุ์ดังนี้ “พันธุ์อีล่ายักษ์ของสวนโชคชัยจะมีลักษณะเด่นกว่ากระท้อนสายพันธุ์อื่นตรงที่เมื่อผลแก่และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะมีน้ำหนักผลเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความดกของต้นและผลที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบมีน้ำหนักถึง 2.5 กิโลกรัมต่อผล เนื้อหนาฟูและนิ่ม สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก รสชาติหวานจัดมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว”
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกกระท้อนห่อสวนทองดี น้อยเหน่ จำนวน 10 ไร่ มีทั้งแรงงานในครอบครัวและยังต้องจ้างแรงงานมาเพิ่มโดยเฉพาะในช่วงห่อผล คุณทองคำได้แนะนำว่าถ้าจะใช้แรงงานเพียงครอบครัวควรจะปลูกกระท้อนห่อเพียง 2 ไร่ ก็พอแล้วจะได้ดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึงเมื่อถึงช่วงผลผลิตกระท้อนออกสู่ตลาด ผลผลิตกระท้อนจากสวนทองดี น้อยเหน่ จะนำผลผลิตไปขายยังที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรีเป็นประจำทุกปี จะมีการรับจัดชะลอมเป็นของฝาก อย่างน้อยปีละ 1,000 ชะลอม (1 ชะลอมใส่กระท้อนได้ประมาณ 3 กิโลกรัม) ส่วนใหญ่จะซื้อเป็นของฝากที่ “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=165695&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น