2-V Research Program สร้างมูลค่าและคุณค่าผลผลิตงานวิจัยข้าว
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 51
2-V Research Program สร้างมูลค่าและคุณค่าผลผลิตงานวิจัยข้าว
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท ปัจจุบันคนไทยที่ยึดอาชีพทำนามีประมาณ 3.7 ล้านครอบครัวหรือราวๆ 14-15 ล้านคน นอกจากนี้มีคนไทยที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวอีกจำนวนมาก เช่น โรงสีข้าว พ่อค้าข้าว และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นข้าวจึงนับเป็นพืชคู่บ้านคู่เมืองของไทยเราอีกทั้งอยู่คู่กับคนไทยมาตลอด ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของไทยก็เหมาะที่จะใช้เพาะปลูกข้าว
อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวของไทยในปัจจุบันยังจำเป็นที่จะต้องทำการพัฒนาอีกมากเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้นำนโยบายการวิจัยเกี่ยวกับข้าวมาสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่ม อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับกรมการข้าว จัดทำโครงการ 2-V Research Program ขึ้นเพื่อให้เกิด "ห่วงโซ่คุณค่า" (Value Chain) จากงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง จนถึงการวิจัยเพื่อ "เพิ่มมูลค่า" (Value Added)
ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากวิกฤติข้าวขาดแคลนอันเป็นผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้หลายประเทศได้ผลผลิตข้าวน้อยลง กรมการข้าวในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่วิจัยเรื่องข้าว จึงได้ร่วมมือกับ วช. เพื่อ
นำผลงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวที่ทั้งสองหน่วยงานมีอยู่เป็นจำนวนมากมาสังเคราะห์ และหาแนวทางร่วมกันเพื่อให้การผลิตข้าวของไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนการผลิต โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี
ทั้งนี้ได้ศึกษาวิธีลดต้นทุน การปลูกข้าวตั้งแต่ระยะก่อนการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งในเดือน มิถุนายน ที่จะถึงนี้ จะนำร่องปลูกข้าว ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี อ่างทอง อุทัยธานี พิษณุโลก และเชียงราย โดยเป็นการปลูกข้าวนาปี 2 รอบ และปลูกข้าวนาปรัง 4 รอบ ซึ่งนับว่าเพียงพอต่อการนำมาสรุปผลการทดลองภายในปี 2552
ด้าน นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้จะมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต โดยมีขั้นตอนการบริหารจัดการข้าว 7 ขั้นตอน คือ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้เกิดการผลิตสูงขึ้น โดยตัวอย่างข้าวจากการวิจัย คือ ข้าวสินเหล็ก ที่เพิ่มปริมาณธาตุเหล็กและ ข้าวกล้องงอก หรือ GABA Rice ที่ส่งผลต่อระบบประสาทแก้โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น, การเตรียมข้าว, การกำจัดวัชพืช เน้นการทำเกษตรอินทรีย์, การใช้ปุ๋ยเคมี โดยการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต, การป้องกันกำจัดศัตรูพืช, การจัดการน้ำอย่างเหมาะสม และ การเก็บเกี่ยวและตลอดหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้คุณภาพข้าวคงที่ ลดความชื้นของข้าวให้ต่ำลง
โดยแต่เดิมชาวนาปลูกข้าว 1 ไร่จะมีต้นทุนการผลิต 4,000-5,000 บาท โดยหวังว่าหลังจากความร่วมมือนี้แล้วจะทำให้ต้นทุนลดลง 500-1,000/บาทต่อไร่ ในเรื่องของการเปลี่ยนวิธีหว่านข้าว ที่ต้องใช้ข้าวถึง 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งที่จริงแล้วใช้เพียง 15-20 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น นอกจากการลดต้นทุนการผลิตแล้ว กรอบความร่วมมือครั้งนี้ยังจะทำให้เกิด การศึกษาวิจัยในด้านอื่นๆ ทั้งด้านการศึกษาพันธุ์ข้าวทนโลกร้อนในอนาคตด้วย
ปัจจุบันมีธนาคารยีนข้าว จำนวน 24,000 สายพันธุ์ ซึ่งกรมการข้าวรวบรวมได้จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทย 18,000 สายพันธุ์ ข้าวต่างประเทศ 3,000 สายพันธุ์ และข้าวที่เกิดจากการผสมขึ้นใหม่อีกราว 3,000 สายพันธุ์ ดังนั้นจะทำให้ไทยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ในการวิจัยพันธุ์ข้าว ทั้งนี้จะเป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวทนโลกร้อนจากพันธุ์ข้าวทนแล้งที่มีอยู่ และใช้เวลาพัฒนาสายพันธุ์เพียง 3 ปี จากปกติที่ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี และประการสำคัญยิ่งจากความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้กรมการข้าวมีคณะกรรมการ วิจัยข้าวและกรอบการวิจัยข้าวที่ชัดเจนมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรองรับการวิจัยข้าวอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 2 มิถุนายน 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=109955
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น