เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 51
“กระถินบ้าน” ส่วนที่เป็นยอดอ่อน “เปิบ” คู่กับ หอยนางรม จิ้มน้ำพริก กินกับส้มตำ เพิ่มรสชาติ ลำต้น ใบ ใช้เลี้ยงสัตว์ทั้งแพะ แกะ โค ฯลฯ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารข้นได้ดีเยี่ยม
นอกจากจะให้ประโยชน์เรื่องปากท้องทั้งคนและสัตว์แล้ว ยังมีคุณค่ากับพืช โดยใช้ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ด้วยการสกัด “ยีน” สำหรับนำไป “ยับยั้งเชื้อรา” ใน “ข้าว” ให้ผลดีเทียบเท่ากับสารเคมีบางชนิด ซึ่งโรคดังกล่าวจะแสดง อาการลำต้นเหี่ยว ใบเหลือง และ ตาย ในที่สุด
เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่จะลดการใช้สารเคมี รศ.ดร.มานะ ขาวเมฆ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ รศ.ดร.พูนศุข ศรีโยธา อาจารย์สาขาวิชาชีวเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ได้ทำการศึกษาวิจัย “การแสดง ออกของไคติเนสจากกระถินบ้านในข้าวไทยและข้าวญี่ปุ่น” โดยได้รับทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
รศ.ดร.มานะ เปิดเผยว่า เอนไซม์ไคติเนส เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ในยีสต์ เชื้อรา แมลง กุ้ง ปู ที่ใช้ในการเจริญเติบโตและลอกคราบ แบคทีเรียจะใช้เอนไซม์ดังกล่าวในการย่อยสลายไคติน เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ส่วนพืชจะผลิต เอนไซม์ชนิดนี้ไว้สำหรับ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา จากหลักการนี้ จึงคิดว่าหากนำ “ข้าว” ถ่ายยีนดังกล่าวเข้าไป น่าจะช่วยต่อต้านโรคเชื้อราได้ เพราะเอนไซม์ดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพสูง โดยใช้เชื้อรา เอธิลีน ฮอร์โมน สารเคมี โลหะหนัก เหนี่ยวนำ
ด้าน รศ.ดร.พูนศุข บอกว่า ได้ทำการศึกษาเอนไซม์สลายไคตินและคุณสมบัติในการเร่งปฏิกิริยาจากเมล็ดพืชใน Family Gramineae 33 ตัวอย่าง Leguminosae 36 ตัวอย่าง Crucubitaceae 9 ตัวอย่าง Bixaece 1 ตัวอย่างและ Moringaceae 1 ตัวอย่าง
พบว่า...เอนไซม์ที่สกัดจากเมล็ดพืชที่มี Chitinase สูงสุด 10 อันดับแรก คือ กระถินพิมาน กระถินบ้าน นนทรีป่า พฤกษ์ ก้ามปู ไม้แดง นนทรีทอง แคฝรั่ง ข้าวฟ่างเลี้ยงสัตว์ และสีเสียดออสเตรเลีย โดย Chitinase activity อยู่ในช่วง 0.012-0.36 U ต่อเมล็ดแห้ง 1.0 กรัม และมี N-acetylglucosaminidase activity อยู่ในช่วง 0.02-0.78 U ต่อเมล็ดแห้ง 1.0 กรัม
นอกจากนี้ มีการศึกษา เอนไซม์ไคติเนสจากกระถินบ้าน ในเพลทซึ่งมีเชื้อราจำนวน 14 ชนิด โดยใช้ความเข้มข้นต่ำกว่าเอนไซม์ไคติเนสจากแหล่งต่างๆ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อได้มากถึง 13 ชนิด เมื่อได้ผลดังกล่าว จึงนำมาสร้าง “พลาสมิด” ที่มี “ไคติเนสจากกระถินบ้าน” โดยใช้วิธีการตัดต่อเอนไซม์ตัดจำเพาะ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “แคลลัส” จากเมล็ดข้าว “ไทยดอกมะลิ 105” และ “ข้าวญี่ปุ่นโกชิฮิการิ” ถ่ายยีนไคติเนสเข้าไป ด้วย “อะโกรแบคมีเรียม” ก่อนเพาะเลี้ยงต้นอ่อนบนยาปฏิชีวนะ เพื่อคัดเลือกแคลลัสที่มีพลาสมิดและยีนฯ
เสร็จแล้วตรวจด้วยวิธี PCR, Northern blot gel, Soutern blot gel และ gus assay พบว่าในใบ ลำต้น และเมล็ดข้าวดอกมะลิ 105 จะมี ยีนไคติเนส และ ยีน gus มากกว่าในข้าวญี่ปุ่น จากนั้นทดสอบคุณสมบัติการต้าน โดยใช้ เชื้อราสายพันธุ์ Fusarium monoliforme สเปรย์ใส่ต้นข้าว ทั้งสองชนิดที่ไม่ได้รับการถ่ายยีน ปล่อยทิ้งไว้ 2 วัน สังเกตพบว่า ต้นข้าวแสดงอาการเหี่ยว ใบเริ่มเหลือง และเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ ใบเริ่มเกิดจุดสีน้ำตาล ซึ่ง ต่างจากต้นข้าวที่ได้รับการถ่ายยีนดังกล่าวที่ยังคงแข็งแรง ใบเขียว
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ต้นข้าวที่ไม่มียีนไคติเนสจะเกิดเชื้อราได้ง่ายกว่าต้นข้าวที่ได้รับการถ่ายยืน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังมีโครงการที่จะศึกษาในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวชนิดอื่นๆ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ฝ้าย ปาล์ม และพุทธรักษาด้วยเช่นกัน สำหรับเกษตรกรที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-2529-1638 หรือ 0-2529-4046 ต่อ 404.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 2 มิถุนายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=91961