เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 51
ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะ "ข้าว" รวมถึงอาหารจากแหล่งในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู หรือปลา ก็ลดปริมาณลงอย่าน่าวิตก สาเหตุมีหลายปัจจัย ทั้งปัญหาพิบัติภัยและน้ำมือมนุษย์ ดังนั้นหากไม่เตรียมรับมือแต่เนินๆ อาจสายเกินแก้
ทว่าย้อนไปเมื่อปี2538 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนนักวิจัยของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาและพัฒนาการเลี้ยง "หอยหวาน" เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร กระทั่งปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงหอยหวานของเอกชนในเครือข่ายจำนวน 22 แห่ง ผลผลิตมีตลาดรองรับที่แน่นอน ล่าสุด วช.เดินหน้าต่อยอดโครงการ โดยลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "การพัฒนาปฏิบัติการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฟาร์มเพาะและเลี้ยงหอยหวานเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรและสร้างความมั่นในธุรกิจอาหารด้านวัตถุดิบ
ศ.ดร.อานนท์บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. บอกว่า หอยหวาน เป็นหอยทะเลฝาเดียว มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไม่น้อย แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาชาวประมงจับหอยในธรรมชาติได้น้อยลงเรื่อยๆ ดั้งนั้นกว่า 10 ปีที่ผ่านมานักวิจัยทำงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาการเลี้ยงหอยจากทะเลสู่การเลี้ยงในระบบฟาร์ม งานวิจัยทำครอบคุมทุกด้านทั้งการเพาะฟัก เลี้ยง ตลาด และการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อมาปี 2549 ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ ถ่ายทอดสู่ประชาชน กระทั่งเกิดฟาร์มหอยจำนวน 22 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และระยอง ได้ผลผลิตหอยรวมทั้งหมดประมาณ 9 ตันต่อเดือน ราคาขายหน้าฟาร์มเฉลี่ยกิโลกรัมละ 300 บาท
"การเลี้ยงหอยหวานถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เลี้ยงง่าย ลงทุนต่ำ ตลาดเปิดกว้างอย่างที่ประเทศจีนทราบมาว่าต้องการสูงถึงเดือนละ 30 ตัน แต่เกษตรกรไม่สามารถทำได้ จึงมีโครงการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพเลี้ยงหอยชนิดนี้ โดยมีเป้าหมายขยาย 200 ฟาร์ม ภายในระยะเวลาหนึ่งปี คาดว่าจะสร้างรายได้ต่อปีจากหลักร้อยล้านสู่พันล้าน ขอย้ำว่า เกษตรกรอย่าแห่กันมาเลี้ยงเพราะเห็นว่าราคาดี ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นด้วย เช่น การเข้าฝึกอบรม มีพื้นที่ใกล้ทะเล ซึ่งเราไม่มีแผนไปส่งเสริมแถวภาคอีสานแน่ การส่งเสริมต้องมองอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในอนาคต" ศ.ดร.อานนท์ กล่าว
สอดคล้องกับผู้วิจัย ดร.นิลนาจชัยธนาวิสุทธิ์ มองว่า แม้การเลี้ยงหอยหวานเป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกร แต่ในฐานะนักวิจัยคงไม่หยุดการพัฒนาเพียงแค่นี้ ต้องศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ อย่างเรื่องการขนส่งปัจจุบันใช้การขนส่งทางอากาศทำให้ต้นทุนสูง ต้องหาช่องทางลดในส่วนนี้ เช่น พัฒนาเมนูอาหารที่ปรุงจากหอย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและไต้หวัน ขณะที่หอยหวานจากเวียดนามก็เป็นคู่แข่งสำคัญที่จะต้องเตรียมการรับมือด้วย
ด้าน วัฒนศักดิ์บุญมหานาค เจ้าของฟาร์มหอยหวาน"เพชรรุ่งเรือง"ที่ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เล่าว่า ลงทุนประมาณ 4 ล้านบาท เลี้ยงหอยหวาน 120 บ่อ (บ่อขนาด 25-30 ตรม.) ปล่อยลูกหอยบ่อละ 8,500- 1 หมื่นตัว เลี้ยงด้วยปลาเป็ดเป็นเวลา 5 เดือน จะได้หอยขนาด 140-150 ตัวต่อกิโลกรัม ขายราคา 280-350 บาท
"ผมยืนยันว่าการเลี้ยงหอยหวานไปได้อีกไกล แต่ก็ไม่ง่าย ถ้าผู้เลี้ยงไม่รวมกลุ่ม หรือตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง จริงอยู่จีนต้องการออร์เดอร์จำนวนมาก แต่ถ้าเราทำไม่ได้เราก็ไม่สนใจ ตอนนี้ผมจึงเตรียมปรับปรุงบ่อกุ้งร้างพื้นที่กว่า 10 ไร่ สำหรับเลี้ยงหอยหวาน หากประสบความสำเร็จคาดว่าจะได้ผลผลิตรวมทั้งหมด 3 ตันต่อเดือน" วัฒนศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 5 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/05/x_agi_b001_205453.php?news_id=205453