เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 51
เมื่อปุ๋ยอินทรีย์-ชีวภาพ ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เป็นหนึ่งในทางเลือกสู่ทางรอดของเกษตรกรในยุคปุ๋ยเคมีราคาแพง ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเริ่มหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพ กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการขับเคลื่อนรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีแล้วหันมาพึ่งพาสารอินทรีย์ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น เศษพืช เศษใบไม้ ฟางข้าว ผักตบชวา มูลสัตว์ หรือแม้กระทั่งวัชพืชอย่างหอยเชอรี่ รวมทั้งเศษอาหารในครัวเรือน ซึ่งไม่เพียงเป็นการลดต้นทุนให้เกษตรกรยังช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้มีอินทรียวัตถุมากขึ้น มิหนำซ้ำยังช่วยลดปริมาณขยะสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อนได้ด้วย
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพืชผลทางการเกษตร นวัตกรรมใหม่ที่กรมฯ คิดค้นขึ้นขณะนี้มีอยู่ 3 ตัว ได้แก่ จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงดิน พด.11 ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน (N) และสูตรฟอสฟอรัส (P)
จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงดิน พด.11 คือ จุลินทรีย์ที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพืชปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินผลิตออกมารองรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน 2 ชนิด ได้แก่ ปอเทือง และโสนอัฟริกัน คุณสมบัติของจุลินทรีย์ตัวนี้คือช่วยในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ทำให้มีแหล่งธาตุอาหารไนโตรเจนทดแทนปุ๋ยเคมี เพิ่มมวลชีวภาพให้กับพืชปรับปรุงดิน นอกจากนี้ จุลินทรีย์ พด.11 ยังมีประสิทธิภาพในการละลายฟอสฟอรัสในดินทำให้พืชสามารถดึงไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ส่งผลให้พืชปรับปรุงบำรุงดินเจริญเติบโตดีขึ้นจากเดิมที่ 3 ตัน/ไร่ เป็น 4 ตัน/ไร่ เมื่อไถกลบพืชปรับปรุงบำรุงดินจะทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น โครงสร้างดินดี ทำให้การปลูกพืชหลักได้รับผลผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำจุลินทรีย์ดิน พด.11 ไปขยายเชื้อในปุ๋ยหมักทดลองใช้แล้ว คาดว่าจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี อีกทั้งยังช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินอีกด้วย
สำหรับปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ ที่ประกอบด้วยกัน 4 ประเภท 1.จุลินทรีย์ที่ดึงไนโตรเจนจากอากาศมาเก็บไว้ในดินให้พืชนำไปเป็นธาตุอาหารไนโตรเจน 2.จุลินทรีย์ที่ละลายฟอสฟอรัสทำให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ 3.จุลินทรีย์ที่ละลายโพแทสเซียมให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ธาตุอาหารบางตัวถูกตรึงไว้ในดินพืชไม่สามารถดึงไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น จุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยละลายธาตุอาหารให้ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4.จุลินทรีย์ที่สร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของรากและต้นพืช พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการดูดน้ำและธาตุอาหาร
รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 นั้นต้องนำไปขยายเชื้อในปุ๋ยหมัก ใช้ได้กับพืชทุกชนิด โดยขณะนี้กรมฯ ได้ทำแปลงทดลองกับพืชทุกชนิดกระจายไปทั่วประเทศ แต่ที่เน้นคือพืชเศรษฐกิจ 7 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลต่าง ๆ ซึ่งจากการทดลองพบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ได้ไม่ต่ำกว่า 30% ทำให้ต้นทุนลดลงในขณะที่ผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น อันเกิดจากความสมดุลของธาตุอาหารพืชที่มีมากขึ้นนั่นเอง
ส่วนนวัตกรรมในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงนั้นเป็นการนำวัสดุอินทรีย์และอนินทรีย์ธรรมชาติที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัสสูง มาผ่านกระบวนการหมักจนสลายตัวสมบูรณ์ ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืช มีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ เมื่อนำมาใช้ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดโดยคำนึงถึงช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืชและความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดการใช้ปุ๋ยได้มาก เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ในคราวเดียว
สำหรับเกษตรกรที่สนใจนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือรับแจกผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้ฟรี ได้ที่สำนักเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ หรือโทร.0-2579-2875.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166467&NewsType=1&Template=1