เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 51
ผศ.พาวิน มะโนชัย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ผลิตลำไยนอกฤดูว่า ช่วงที่มีฝนตกชุกระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะมีแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งเข้าทำลายผลลำไยที่ติดผลนอกฤดู ซึ่งนักกีฏวิทยาของไทยเองก็ยังไม่สามารถจำแนกและระบุได้ว่าเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดใด โดยหนอนแมลงศัตรูพืชดังกล่าวจะเจาะเข้าไปในผลลำไยที่มีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเหลือง แล้วกัดกินเมล็ดและกินเนื้อลำไยจนหมดเหลือแต่เปลือก บางช่ออาจถูกทำลาย 20-30 ผล จากนั้นผลจะแห้งและร่วงเหลือเฉพาะก้านช่อ ทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจะได้ผลผลิตลดน้อยลงและไม่คุ้มค่าการลงทุน
ดังนั้น ชาวสวนลำไยนอกฤดูจึงควรหมั่นตรวจสอบและเฝ้าติดตามการระบาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอัตราการสูญเสีย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ราดสารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งต้นลำไยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะแมลงศัตรูพืชชนิดนี้จะแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้าง หากพบว่าผลลำไยในสวนถูกทำลายมาก เกษตรกรควรฉีดพ่นด้วยสารคลอไพริฟอสในอัตราที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาสารพิษตกค้างปนเปื้อนในผลผลิต หรือถ้าพบการระบาดเพียงเล็กน้อย ควรใช้วิธีจับหนอนศัตรูพืชไปทำลายโดยการเผาไฟ
“หนอนแมลงศัตรูพืชชนิดนี้มีสีเขียวอมเหลือง ลำตัวยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ถือเป็นศัตรูพืชชนิดใหม่ที่น่าจับตา เนื่องจากเพิ่งพบการระบาดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ แต่นักกีฏวิทยายังไม่ระบุชี้ชัดว่าเป็นศัตรูพืชชนิดใด ชื่ออะไรยังไม่ทราบเลย หากไม่สนใจหรือไม่มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อนาคตอาจจะแพร่ระบาดทำลายผลผลิตลำไยเสียหายหนักขึ้น ลุกลามไปถึงลำไยในฤดู และพืชชนิดอื่น ๆ ได้” ผศ. พาวิน กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 มิถุนายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166466&NewsType=1&Template=1