เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 51
จากการสังเกตภายหลังเกษตรกรเก็บผลผลิต "สับปะรด" แล้วใช้รถไถพรวนพื้นดิน สับฟัน ต้น ใบสับปะรดทิ้ง ในมุมของ ภาณุมาศ สุยบางดำ อาจารย์ภาควิชาเกษตรกลวิธาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ จ.สงขลา มองว่า
เป็นการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ จึงสนับสนุนให้เกษตรกรทำกระดาษจากใบสับปะรดสร้างรายได้เสริม พร้อมร่วมกับนักศึกษาผลิต "เครื่องตีเยื่อกระดาษ" ใช้เพื่อการนี้ นอกจากราคาถูก ทำงานรวดเร็วแล้ว ในทางอ้อมยังช่วยลดโลกร้อนด้วย
อาจารย์ภาณุมาศบอกว่า เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดบางกลุ่มจะไม่ไถพรวนพื้นดิน แต่เลือกวิธีทำลายต้น ใบด้วยการเก็บรวบรวมไว้ในแปลงแล้วปล่อยตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปเผาทิ้ง วิธีการนี้นอกจากจะก่อมลพิษทางอากาศแล้ว ยังทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลต่อยอดที่ทำให้อาจารย์และทีมนักศึกษาของภาควิชาประดิษฐ์เครื่องตีเยื่อกระดาษขึ้น หลังสนับสนุนให้เกษตรกรหารายได้เสริมจากการทำกระดาษจากใบสับปะรด
"กรรมวิธีการผลิตกระดาษนั้นไม่ยาก เริ่มจากการนำต้นสับปะรดมาปลิดใบออกจากต้น แล้วนำไปล้างทำความสะอาด จากนั้นนำไปต้มในน้ำผสมโซดาไฟ เมื่อต้มจนใบสับปะรดเปื่อยแล้ว นำไปล้างน้ำให้สะอาด และนำเยื่อที่ได้ไปตีให้เยื่อมีความละเอียดเหมาะสมต่อการทำกระดาษ" อาจารย์ภาณุมาศบอกและว่า ด้วยขั้นตอนการตีเยื่อให้ละเอียดเป็นขั้นตอนที่ยากก่อนนำเยื่อที่ได้ไปขึ้นเฟรมทำเป็นกระดาษนั้น ต้องใช้แรงงานคนในการตีจำนวนมาก ทั้งใช้เท้าเหยียบ ใช้มือตีเส้นใย แถมใช้เวลานานด้วย
เหตุนี้ อาจารย์ภาณุมาศบอกว่า จึงร่วมกับนักศึกษาออกแบบและพัฒนาเครื่องตีเยื่อกระดาษใบสับปะรดขึ้น ซึ่งตัวเครื่องกะทัดรัดง่ายต่อการใช้งานและเคลื่อนย้าย มีขนาดกว้างxยาวxสูง เท่ากับ 55x45x90 เซนติเมตร ใช้มอเตอร์ 1 แรงม้า 220 โวลต์ เป็นต้นกำลังขับ มีใบมีดตีเยื่อทั้งหมด 10 ใบ สามารถตีเยื่อใบสับปะรดที่ผ่านการต้มและล้างทำความสะอาดแล้ว ครั้งละ 5 กิโลกรัมต่อน้ำเปล่า 15 กิโลกรัม ความเร็วรอบของชุดใบตีที่เหมาะสมเท่ากับ 480 รอบต่อนาที
“การตีเยื่อแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 7 นาที มีเงื่อนไขว่าในการตีนั้นขึ้นอยู่กับการนำกระดาษไปใช้งานด้วย อย่างเช่น หากต้องการกระดาษที่มีผิวเรียบก็สามารถใช้การทำงานที่สภาวะดังกล่าวได้เลย แต่หากต้องการกระดาษที่มีผิวหยาบก็จะต้องลดเวลาในการตีเยื่อลงตามความเหมาะสม" อาจารย์ภาณุมาศแจงถึงคุณสมบัติของเจ้าเครื่องนี้
พร้อมการันตีว่าเจ้าเครื่องนี้มีข้อดีมากมาย นอกจากราคาถูกเพราะใช้เงินลงทุนหลักพันบาท ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตกระดาษลงได้กว่า 2 เท่า ทั้งย่นระยะเวลาการทำงาน ลดแรงงานคนได้จำนวนมาก ข้อดีอีกประการหนึ่งของเครื่องนี้ที่ได้ออกแบบคือป้องกันเยื่อกระเด็นออกจากถังขณะเครื่องกำลังตีเยื่อ เพราะถังของเครื่องมีลักษณะเป็นแบบปิด
"เครื่องตีเยื่อทั่วไปจะเป็นถังเปิดซึ่งจะเป็นปัญหามากขณะตีเยื่อ แต่ที่เราผลิตขึ้นจะเป็นแบบถังปิด ช่วยแก้ปัญหาเยื่อกระเด็นออกจากถังได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” อาจารย์ภาณุมาศแจงพร้อมฝากบอกถึงเกษตรกรที่สนใจจะผลิตใช้เอง หรือต้องการรายละเอียด ก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร.08-6961-2216 หรือ 0-7458-4204
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 10 มิถุนายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/06/10/x_agi_b001_206250.php?news_id=206250